รายงานข่าวจากธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า
ฝ่ายวิจัยของธนาคารได้ประเมินผลความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในกว่า
50 จังหวัด
ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรแล้ว พบว่า
แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรประเภทพืชผักจะปรับตัวสูงขึ้น
เพราะพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย
แต่ทั้งนี้ในส่วนของราคาจำหน่ายข้าวสารนั้น
เชื่อว่าจะไม่ปรับตัวขึ้นสูงมากนัก
เนื่องจากผลผลิตข้าวลดลงจากที่คาดการณ์ไว้
4-5% หรือประมาณ 1-1.4 ล้านตันข้าวเปลือก
ขณะที่สต๊อกข้าวของรัฐบาลในปี 48-49
ยังเหลือถึง 3.3 ล้านตัน โดยเป็น ข้าวสาร
2.8 ล้านตัน ข้าวเปลือก 0.5 ล้านตัน
นอกจากนี้ โครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 49
ที่สิ้นสุดไปเมื่อ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา
มีปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกรวม 2.17
ล้านตัน
จึงเชื่อว่าจะชดเชยในส่วนของผลผลิตที่ได้รับความเสียหายได้เพียงพอ
ในส่วนของอุตสาหกรรมเกษตร การประมง
และปศุสัตว์นั้น ได้รับผลกระทบปานกลาง
โดยภัยน้ำท่วมส่งผลให้ธุรกิจที่ใช้
สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบหลักป้อนโรงงานลดลง
วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น
โรงงานต้องลดกำลังการผลิตลง ภาคการประมง
คาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีสาขานี้
ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.16%
จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2% ภาคปศุสัตว์
มีสัตว์เลี้ยงสูญหายหรือตาย 1.4 ล้านตัว
ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้าน
แต่ในฟาร์มขนาดใหญ่ไม่เสียหาย
จึงไม่น่าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต
แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์บกจะได้รับผลโดยตรง
คือขาดแคลนอาหารสัตว์
ซึ่งอาจทำให้สัตว์เติบโตช้าและเจ็บป่วยได้
“ความเสียหายจากภัยน้ำท่วมที่มีต่อภาคเกษตรกรรมนั้น
นับเป็นมูลค่ามหาศาล
โดยส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเกษตรกรอย่างรุนแรง
ทำให้เกษตรกรบางรายต้องฟื้นฟูพื้นที่ทำการเกษตร
โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า
3-5 ปี กว่าจะให้ผลผลิต
ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือด้วยการชดเชยความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรในรูปของตัวเงิน
และปัจจัยการผลิตประเภทต่าง ๆ
ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ภาคเกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น”.