ภาคเอกชนส่งสัญญาณ ส่งออกโค้งสุดท้ายต่อเนื่องถึงปีหน้าหืดจับ
เงินบาทแข็งค่า ขีดแข่งขันวูบหนัก
พ่อค้าขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนถ้วนหน้า ออเดอร์ใหม่เริ่มชะงัก
แถมเศรษฐกิจคู่ค้าอถดถอย สหรัฐขาดดุลการค้าสูงเป็นประวัติการณ์ 7
แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อาจต้องลดนำเข้าลงปีหน้า
จี้รัฐเลิกกฎอัยการศึกก่อนคู่ค้านำมาตรการกีดกันมาบังคับใช้และตัดจีเอสพี
การค้าระหว่างประเทศที่มีปัจจัยเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง
ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า
มีปัจจัยบ่งชี้สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยไม่ค่อยสดใสนัก
เริ่มจากไตรมาสสุดท้ายปีนี้ค่าเงินบาทได้แข็งค่าสูงสุดในรอบ 7 ปี
และปีหน้าเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญคือสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น
ต่างอยู่ในภาวะถดถอย
ดั่งที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐปี2550
จะขยายตัวเพียง 2.9% จากปีนี้ที่ขยายตัว 3.4%
เศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว2.4% เทียบกับปีนี้ที่ขยายตัว2.8%
ญี่ปุ่นจะขยายตัว 2.1% เทียบกับปีนี้ที่ขยายตัว 2.7%
"ฐานเศรษฐกิจ" ได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการส่งออก
และผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั้ง 35
กลุ่มอุตสาหกรรม
ต่างให้ความเห็นในทิศทางที่สอดคล้องกันว่าภาวะค่าเงินบาทแข็งค่าครั้งนี้
ทุกบริษัทต่างประสบปัญหาขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนกันถ้วนหน้าแล้ว
การรับออเดอร์ใหม่ลูกค้าเริ่มชะลอการสั่งซื้อ
ขณะเดียวกันได้แสดงความกังวลต่อเนื่องไปถึงปีหน้าเพราะหวั่นว่าสหรัฐอเมริกาคู่ค้ารายใหญ่จะลดการนำเข้า
และอาจจะเกิดปัญหาจีนซึ่งพึ่งพาตลาดสหรัฐจะนำสินค้าออกมาเทขายยังตลาดอื่นๆ
ทั่วโลก รวมทั้งตลาดในประเทศไทยด้วย
*****บาทแข็งส่งออกอ่วม::::
นายสมบูรณ์ เจือเสถียรรัตน์ กรรมการบริหาร บริษัท ไทยการ์เมนต์
เอ็กซปอร์ต จำกัดกล่าวว่า
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากค่าเงิน
เพราะทุกบาทที่แข็งค่าขึ้น
หมายถึงผลกำไรหรือผลการดำเนินการที่ขาดหายไป
ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก โดยหากขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 35
บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่มีการคาดการณ์กันนั้น
หลายโรงงานคงต้องปิดกิจการไป เพราะไม่สามารถแบกรับภาระการขาดทุนได้
"ปัจจุบันต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการการ์เมนต์โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่
36.5-38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หากค่าบาทอยู่นิ่งๆ
ยังคงสามารถปรับตัวได้ แต่หากแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐจะได้เห็นผู้ประกอบการหลายรายต้องลดกำลังการผลิตลง
หลายรายคงทยอยปิดโรงงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท
กระทบต่อภาคแรงงานที่จะถูกเลย์ออฟ
และสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีของรัฐบาล"
ขณะที่นายเธียรชัย มหาศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท เหรียญไทย
แอพพาเรล จำกัด กล่าวว่า
จากการที่ไทยมีการส่งออกเครื่องนุ่งห่มเฉลี่ยเดือนละ 300
ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐซึ่งหากยังยืนอยู่ในระดับนี้จะทำให้จากนี้ไปจนถึงสิ้นปีผู้ประกอบ
การเครื่องนุ่งห่ม
จะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนรวมกันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 300 ล้านบาท
สิ่งที่ตามมาคือสินค้าไทยจะมีราคาแพงกว่าคู่แข่งขันมากขึ้นไปอีก
ทำให้ขายยากเพราะคู่แข่งอาทิ จีน เวียดนาม
ค่าเงินไม่แข็งขึ้นมากเหมือนอย่างไทยอีกทั้งยังมีต้นทุนที่ถูกกว่า
เช่นเดียวกับนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์
นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่ระบุว่า
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร
และเกษตรแปรรูปที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100% ในภาพรวมเป็นอย่างมาก
โดยเวลานี้ในส่วนของการส่งออกกุ้งที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและส่งมอบปลายปี
กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก
เพราะการแข็งค่าของเงินบาททำให้แต่ละรายประสบปัญหาขาดทุน
ขณะที่ราคาสินค้าที่แพงขึ้นจากค่าเงินบาททำให้คู่ค้าชะลอการสั่งซื้อ
และเริ่มที่จะหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่าแล้วในเวลานี้
***โอดลูกค้าชะลอสั่งซื้อ::::
นายสมภพ
ชูธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกอินเตอร์ฟู้ด จำกัด
ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวและมันสำปะหลัง กล่าวว่า
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาถึง 36.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กระทบต่อการส่งออกของบริษัททั้งออเดอร์เดิมและออเดอร์ใหม่
โดยออเดอร์เดิมซึ่งมีการสั่งซื้อล่วงหน้าเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว
ได้คำนวณราคาเสนอขายที่ค่าเงินบาท 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
แต่ต้องส่งมอบเดือนนี้ซึ่งค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาอยู่ที่ 36.70
บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้องประสบกับขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้วัตถุดิบคือข้าวหักยังปรับตัวสูงขึ้นจากกก.ละ 14 บาท
เป็นกก.ละ 18 บาท ต้องขาดทุนจากราคาวัตถุดิบอีก
ที่สำคัญเวลานี้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อใหม่ทั้งหมดเลย
เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่ผู้ส่งออกคำนวณที่ค่าเงินบาท 36.50
บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นลูกค้าที่นำเข้าสินค้าไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทันทีทันใดได้
จึงชะลอสั่งซื้อ
นายนิยม จุฬาเสรีกุล ผู้จัดการบริษัท ชลบุรีโค้วเซ่งฮวด จำกัด
ผู้ส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ด กล่าวว่า
ได้เสนอขายมันเส้นให้กับจีนที่ตันละ 110 ดอลลาร์สหรัฐ
โดยคำนวณราคาที่ค่าเงินบาท 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
แต่เวลานี้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาอยู่ที่ 36.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทำให้ต้องขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ถึงแม้จะมีการประกันความเสี่ยงไว้
แต่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะไม่ประกันทั้งหมดจะประกันสัดส่วน 30-40%
จึงทำให้ขาดทุนไปจำนวนมาก
ขณะที่การส่งออกมันอัดเม็ดไปยุโรปได้เสนอขายที่ตันละ 102
ดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเสนอคำสั่งซื้อใหม่ที่ตันละ 108
ดอลลาร์สหรัฐ ผู้นำเข้าชะลอสั่งซื้อ
****หวั่นเศรษฐกิจสหรัฐกระหน่ำซ้ำ
นายเจน นำชัยศิริ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)
แสดงความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย
โดยกล่าวว่าจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยต่อเนื่อง
และขาดดุลการค้าติดต่อกันมาหลายเดือน
และอาจต้องลดการนำเข้าจากกรณีดังกล่าวผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าไปขายในอเมริกาจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะจีน
ที่เป็นผู้ส่งออกไปอเมริการายใหญ่
เมื่อจีนส่งสินค้าเข้าไปยังสหรัฐได้ลดลง
ทำให้จีนต้องระบายสินค้าออกไปทั่วโลก
ประเทศไทยเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่สินค้าราคาถูกจากจีนกลับมาตีตลาดมากขึ้น
รวมถึงการแข่งขันกับจีนในต่างประเทศในหมวดอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยกัน
ด้านดร.ขัติยา
ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่าปี2550
เศรษฐกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่ดีแน่นอน
และสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็พึ่งพาตลาดส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวด้วยในสัดส่วน
20-25% ที่เหลือกระจายการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ยุโรปและอาเซียน
"เวลานี้เฉพาะปัญหาค่าเงินบาทแข็งก็กระทบต่อกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วโดยปีนี้ขยายตัวเพียง2%
จากเดิมที่สินค้าหมวดนี้เติบโต 8-10% ต่อปี ดังนั้นในปี2550
เมื่อเศรษฐกิจในอเมริกาซบเซาลงไปอีก
จึงคาดการณ์ว่าจะยิ่งทำให้กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากไทยส่งออกไปจะไม่ขยายตัว
ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นปีที่ตกต่ำที่สุดของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย"
ดร.ขัติยา
กล่าวอีกว่าเวลานี้ยังโชคดีที่มีตัวช่วยอย่างกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
ที่จะต้องรักษาตลาดไว้ให้ดีเพราะยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตอยู่มีการเติบโตประมาณ
20% ต่อปี เนื่องจากไทยเป็นฐานผลิตฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟ (HDD)ที่สำคัญของกลุ่มทุนอเมริกา
เช่น การลงทุนของกลุ่มเวสเทริน์ ดิจิตอล และกลุ่มซีเกท เทคโนโลยีฯ
****จี้ยกเลิกกฎอัยการศึก:
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า
เวลานี้เฉพาะค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 36-37 บาท/ดอลลาร์
ก็ทำให้ผู้ประกอบการด้านสิ่งพิมพ์กระทบไปแล้ว
เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
แข่งขันกับจีนและลาตินอเมริกาไม่ได้
และมาถูกซ้ำเติมโดยที่อเมริกาขาดดุลต่อเนื่อง
โดยมียอดการขาดดุลแล้วกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และในจำนวนนี้ขาดดุลกับจีนมากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยิ่งน่าเป็นห่วงและมั่นใจว่าปีหน้ารัฐบาลอเมริกาจะลดการนำเข้าแน่
ยิ่งซ้ำเติมไปกันใหญ่
นายเกรียงไกร กล่าวด้วยว่าภาครัฐควรจะประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก
เพราอาจทำให้ประเทศคู่ค้ามองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและอาจจะนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้กับประเทศไทย
หรือตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี)
หรือการให้ความช่วยเหลืออื่นๆได้
ด้านนายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวเพิ่มเติมว่า
หากสหรัฐอเมริกาเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่องจะกระทบกับทั่วโลกอยู่แล้วเพราะอเมริกาเป็นตลาดใหญ่
แต่ถ้ามองอีกด้านมองในแง่โอกาสไทยก็ยังมีโอกาสในช่วงที่อเมริกาวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนกันเพราะกลุ่มปิโตรเคมีจะได้เปรียบในแง่การนำเข้าวัตถุดิบ
เช่น การนำเข้า เอทเธอรีนไดร์คลอไรด์(EDC)
ซึ่งอยู่ในขบวนผลิตในช่วงต้นทางของการผลิตพีวีซี
อย่างไรก็ตามสินค้าในกลุ่มปิโตรเคมีมีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดอเมริกาน้อยมาก
ส่วนใหญ่ป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก สัดส่วนที่เหลือก็จะส่งออก
ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนเรื่องค่าขนส่งสูง
ยกเว้นเมื่อปีที่แล้วที่สินค้ากลุ่มปิโตรเคมีส่งออกไปอเมริกามากกว่าทุกปีเพราะอยู่ในช่วงฟื้นฟู
หลังจากที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่ถูกพายุเฮอร์ริเคน
|