สหรัฐยังกีดกันสินค้าไทยหนัก
ล่าสุดกลุ่มอาหารทะเลถูกห้ามนำเข้ากว่า 27 ชิปเม้นต์จาก 6
บริษัท อ้างไม่ได้ผลิตตามขบวนการ HACCP
ต้องเสียค่าใช้จ่ายแก้ต่างอื้อ
ขณะที่ทุกฝ่ายสั่งปิดเงียบห้ามเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ถูกเล่นงาน
หวั่นลูกค้าขาดความเชื่อถือ-แบงก์ตามทวงหนี้ ด้านกรมประมงเต้น
ขอแจงสหรัฐ ไทยยกเลิกใช้สารคลอแรมฯไปนานแล้ว
ส่วนทีมไทยแลนด์เร่งเจรจา FDA ยอมรับกระบวนการตรวจสอบในไทย
แหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า
ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ
นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกาว่า ขณะนี้ FDA (องค์การอาหารและยาของสหรัฐ)กำลังเพ่งเล็งสินค้าอาหารทะเลนำเข้าจากต่างประเทศที่สหรัฐอ้างว่าไม่ได้ผลิตตามขบวนการ
HACCP(ขบวนการผลิตภายใต้ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร)
โดยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีสินค้าอาหารทะเลของไทย(กุ้ง หอย
ปู ปลาแช่แข็ง ทูน่ากระป๋อง)ถูกคำสั่งห้ามนำเข้าจำนวนรวมทั้งสิ้น
27 ชิปเม้นต์ โดยเป็นสินค้าจาก 6 บริษัท
สคต. ณ นครลอสแองเจลิส ระบุว่า
การดำเนินการของสหรัฐดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะเดิม
FDA จะตรวจระบบ HACCP ของโรงงานผู้ผลิต
หลังจากนั้นจะมีหนังสือแจ้งเตือนโรงงานผู้ผลิตที่มีปัญหาให้ทำการแก้ไข
แต่ภายใต้นโยบายใหม่ FDA
จะไม่แจ้งเตือนล่วงหน้าไปยังโรงงานผลิตในต่างประเทศอีกต่อไป
หากจะเริ่มทำการกักกันสินค้าเมื่อเดินทางถึงด่านนำเข้า
โดยไม่แจ้งให้โรงงานผลิตทราบด้วยว่าจะทำการกักสินค้าที่ด่านนำเข้าในสหรัฐ
ซึ่งนโยบายกักสินค้าโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะจะใช้กับโรงงานผลิตในต่างประเทศเท่านั้น
ไม่บังคับใช้กับโรงงานผลิตในสหรัฐ
แหล่งข่าวกล่าวว่าในรายงานได้แนบรายชื่อโรงงานผลิตของไทยที่ถูกคำสั่งห้ามนำเข้าจากสหรัฐมาด้วย
แต่ได้สั่งห้ามเปิดเผยรายชื่อต่อสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ"ได้ติดต่อขอรายชื่อจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
เพื่อใช้ในการติดต่อสัมภาษณ์ผู้บริหารของแต่ละบริษัทถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา
แต่เจ้าหน้าที่ของสมาคมได้รับคำสั่งจากผู้บริหารห้ามให้ข้อมูล
เนื่องจากเกรงผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท
กระทบต่อความเชื่อถือของลูกค้า
และที่สำคัญอาจมีผลต่อการกู้เงินจากธนาคาร และอาจถูกทวงหนี้ได้
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวกล่าวว่า
สินค้าที่ถูกกันกันในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทสมาชิกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
อย่างไรก็ดีผู้สื่อข่าวได้สุ่มสอบถามไปยังบริษัทยูเนี่ยน
โฟรโซ่น โปรดักส์ จำกัด (ยูเอฟพี)
ผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งรายใหญ่ไปสหรัฐได้รับการเปิดเผยจากนายอนุรัตน์
โค้วคาสัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ว่า ยูเอฟทีเป็น 1 ใน 6
บริษัทที่ถูกสหรัฐกักกันสินค้าโดยถูกกักกันในล็อตเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาในปริมาณหลายสิบตู้คอนเทนเนอร์
ทั้งนี้ทาง FDA อ้างว่า
สินค้าของบริษัทมีเอกสารไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
โดยสหรัฐต้องการใบรับรองเพิ่มเติมว่าสินค้าล็อตดังกล่าวผ่านการตรวจรับรองสารคลอแรมเฟนิคอลแล้ว
"ในแต่และปี FDA จะเดินทางมาตรวจโรงงานเป็นปกติ
แต่เที่ยวนี้มาตรวจแล้วใช้กฎใหม่โดยไม่มีการแจ้งให้มีการแก้ไขขั้นตอนการผลิตแต่อย่างใด
โดยเขามาตรวจตั้งแต่เดือนมีนาคม
ซึ่งช่วงเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนสิงหาคมสินค้าของบริษัทยังส่งออกไปได้เป็นปกติ
แต่พอปลายเดือนสิงหาคม
เขามากักกันสินค้าโดยแจ้งว่าเอกสารไม่ครบ
และขอให้เราส่งใบรับรองผ่านการตรวจสารคลอแรมเฟนิคอลเพิ่มเติม
ทั้งที่ประเทศไทยได้เลิกใช้สารนี้มากว่าปีครึ่งแล้ว
และกรมประมงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องออกใบรับรองเพราะไม่มีความเสี่ยง
แต่ทางสหรัฐเพิ่งมาบอกว่ายังไงต้องมีใบรับรองทุกตู้"
นายอนุรัตน์ กล่าวว่า
ทางสหรัฐยังได้ประวิงเวลาในการตรวจปล่อยสินค้า โดยอ้างว่า
มีสินค้าจากหลายประเทศที่รอเข้าคิวในการตรวจสอบ
ทำให้ระยะเวลาที่รอนี้ทางบริษัทมีภาระค่าใช้จ่ายห้องเย็นในการเก็บสินค้าปลายทางคิดเป็นหลักแสนบาท
ซึ่งหากต้องรออีกนานจะมีภาระในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
และอาจมีมูลค่ามากกว่าราคาสินค้าที่ส่งไป
ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนดังนั้นเพื่อความรวดเร็วบริษัทจึงได้ส่งทนาย
และเจ้าหน้าที่ของบริษัทบินไปสหรัฐเพื่อนำเอกสารไปมอบให้เพิ่มเติม
ล่าสุดสินค้าของบริษัทได้ถูกถอนออกจากบัญชีรายชื่อที่ถูกกักกัน
และสามารถนำเข้าสหรัฐได้เป็นปกติแล้ว
โดยใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้นประมาณหนึ่งเดือนซึ่งถือว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้เร็ว
เพราะบริษัทมีระบบการทำงานที่พร้อมในทุกด้าน
แต่หากเป็นบริษัทที่ไม่มีความพร้อมคงต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเป็นระยะเวลานาน
กว่าจะแก้ปัญหาได้อาจประสบปัญหาภาวะขาดทุนจากค่าใช้จ่ายที่มากกว่าราคาสินค้า
การกระทำของสหรัฐในครั้งนี้ถือเป็นกีดกันการค้าอย่างชัดเจน
และเลือกปฏิบัติเพราะไม่บังคับใช้กับผู้ผลิตในประทศของตน
ขณะที่นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า
แม้เวลานี้ไทยจะยกเลิกการใช้สารคลอแรมเฟนิคอลไปแล้ว
แต่หากคู่ค้าต้องการใบรับรอง
ทางกรมและผู้ประกอบการก็ต้องจัดหาให้
เพราะอำนาจต่อรองเราน้อยกว่า
อีกทั้งเวลานี้ไทยยังไม่มีความตกลงการยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าประมงที่เท่าเทียมกันกับสหรัฐ(MRAs)
ระหว่างนี้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่เกี่ยวข้อง คือ กรมประมง
,กระทรวงพาณิชย์
หรือกระทรวงการต่างประเทศคงต้องไปชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันกับสหรัฐเพื่อป้องกันการลุกลามของปัญหาและส่งผลกระทบต่อการส่งออก
ขณะที่นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ อัครราชทูตที่ปรึกษา
สถานทูตเอกอัครราชทูตไทย ณ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา
เปิดเผยว่า ในรอบปีที่ผ่านม มีสินค้าจากไทยที่ถูก FDA
ปฏิเสธการนำเข้าประเทศ จำนวน 370 รายการ ในจำนวนนี้ 35%
เป็นสินค้าถูกปลอมปน เช่น มีสารเคมีตกค้าง เป็นต้น
นอกจากประเภทสินค้าประมง อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง แล้วยังมี
สินค้าเกษตรและอาหาร รวมอยู่ด้วย
และในปีนี้ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่อง"ทางเรากำลังแก้ปัญหานี้
โดยขั้นแรกได้หารือให้ FDA แจ้งสินค้าถูกปฏิเสธให้ทราบโดยทันที
ในขณะเดียวกันได้เจรจาความตกลงร่วมให้ FDA
ยอมรับการตรวจสอบต้นทางจากไทยโดยไม่ต้องตรวจที่ปลายทางเข้าสหรัฐ
หรือให้สหรัฐยอมรับกระบวนการตรวจสอบของไทย ซึ่งที่ผ่านมา FDA
ได้ทำกับ 21 ประเทศแต่ไม่ได้ทำกับไทย"
นอกจากนี้ยังมีสินค้าประเทศอาหาร เนื้อหมู ไก่สด
ที่ยังเข้าสหรัฐไม่ได้
เพราะโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์และโรคนิวคาสเซิล
ซึ่งสหรัฐใช้วิธีกำหนดโซนนิ่งตามกฎสุขอนามัยโลก
ซึ่งสหรัฐกำลังใช้กับหลายประเทศรวมทั้งไทย
ซึ่งไทยกำลังหารือสมาคมผลิตเนื้อหมู
และกระทรวงเกษตรสหรัฐเพื่อแก้ไขปัญหานี้ด้วยเช่นกัน
|