ทิศทางเศรษฐกิจไทยภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โดย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล |
| |
|
มกอช.ลุ้นต่อส่งแก้วมังกร-ฝรั่ง-พุทรา-มะละกอดิบเข้าสหรัฐ |
|
|
มกอช.เร่งหน้าเจรจากับ
USDA สหรัฐ ลุ้นเปิดตลาดนำเข้าผลไม้ไทยอีก 4 ชนิดคือ แก้วมังกร-ฝรั่ง-พุทรา
และมะละกอดิบ หลังปีนี้สหรัฐยอมให้มีการนำเข้าผลไม้ไทย 6 ชนิดไปก่อนหน้านี้
เผยขั้นตอนการส่งออกต้องมีการฉายรังสีเพื่อจำกัดศัตรูพืชเสียก่อน
แต่ติดขัดที่ไทยยังไม่มีภาคเอกชนรายใดกล้าลงทุน
สุดท้ายต้องให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ลงทุนก่อสร้าง
โรงงานฉายรังสีผลไม้นำร่องไปก่อน
คาดจะเริ่มปฏิบัติงานได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองผู้อำนวยการ
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มกอช.ได้จัดส่งรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช (PRAs)
ในกลุ่มผลไม้จำนวน 4 ชนิดคือ แก้วมังกร, ฝรั่ง, พุทรา และมะละกอดิบ
ไปยังกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) เพื่อขอให้สหรัฐพิจารณา "อนุมัติ"
ให้มีการนำเข้าผลไม้ไทยทั้ง 4 ชนิด
ก่อนหน้านี้ มกอช.เคยสำรวจตลาดผลไม้ในสหรัฐพบว่า
ชาวอเมริกันจำนวนมากหันมาบริโภคผลไม้เมืองร้อนเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะผลไม้ที่มีความหวานน้อย
ซึ่งประเทศไทยมีผลไม้หลายชนิดที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของผู้บริโภคสหรัฐ
ดังนั้นจึงเร่งผลักดันให้สหรัฐอนุมัติให้มีการนำเข้าผลไม้ไทยในกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้น
ตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มกอช.ได้เจรจาต่อรองกับกระทรวงเกษตรสหรัฐ
(USDA) เพื่อขอให้มีการเปิดตลาดนำเข้าผลไม้ไทยมาโดยตลอด
ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งแล้ว
เพราะในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา USDA
ได้ประกาศอนุมัติให้มีการนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยจำนวน 6 ชนิด ได้แก่
มะม่วง, ลำไย, ลิ้นจี่, มังคุด, เงาะ และสับปะรด
คาดว่าจะมีปริมาณยอดส่งออกผลไม้ประมาณปีละ 36,000 ตัน
หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท
นายสมชายกล่าวอีกว่า ขณะนี้สหรัฐกับไทยกำลังร่วมกันจัดทำรายละเอียด
แผนปฏิบัติการตรวจสอบรับรองร่วมกัน
คาดว่าสหรัฐจะอนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้ทั้ง 6 ชนิดได้ตั้งแต่ปลาย ปี 2549
นี้ โดยในขณะนี้กลุ่มผู้นำเข้าผลไม้สหรัฐ
วางแผนที่จะนำเข้าผลไม้ไทยเข้าไปจำหน่าย ในตลาดนิวยอร์ก-แคลิฟอร์เนีย-ลอสแองเจลิส
ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2550
เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐมีผลไม้เข้าสู่ตลาดน้อย
ทำให้ผลไม้ไทยไม่ต้องแข่งขันราคากับผลไม้สหรัฐ
ขณะเดียวกันก็จะสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูง
ทั้งนี้สหรัฐได้กำหนดเงื่อนไขว่า
ผลไม้ไทยที่จะนำเข้าสหรัฐจะต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชโดยการฉายรังสี
แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ส่งออกรายใดลงทุนทำโรงงานฉายรังสีผลไม้
ดังนั้นภาครัฐจึงต้องลงทุนนำร่องในธุรกิจดังกล่าวก่อน
โดยศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตร สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะรับเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ ใช้งบฯดำเนินงาน 50
ล้านบาท
คาดว่าโรงงานฉายรังสีผลไม้พร้อมจะเปิดให้บริการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550
โดยจะสามารถฉายรังสีผลไม้ประเภทรังสีแกมม่าประมาณ 1.35 ตัน/ชั่วโมง
หรือประมาณ 18 ตัน/วัน
นายสมชายกล่าวถึงกรณีที่ไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม
Codex โลกครั้งที่ 28 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม-3
พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ว่า ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจในระดับหนึ่ง
ฝ่ายไทยได้แสดงให้ผู้เข้าร่วมประชุม Codex จาก 100
ประเทศได้เห็นศักยภาพในฐานะผู้ส่งออกสินค้าอาหาร
ที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร (food safety)
และด้านโภชนาการ
สำหรับการประชุมครั้งนี้
ประเทศไทยได้เสนอให้คณะกรรมการวิชาการของ Codex
ที่เข้าร่วมประชุมพิจารณาทบทวนลดปริมาณน้ำตาลลงร้อยละ 50
จากข้อกำหนดในร่างมาตรฐานอาหารเสริมชนิดธัญพืชสำหรับทารกและเด็กเล็กช่วงอายุตั้งแต่
6 เดือนถึง 3 ปี
เนื่องจากเห็นว่าปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่สูงในอาหารเสริมดังกล่าว
ทำให้เด็กเสี่ยงกับการเกิดโรคอ้วนและเบาหวาน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปกลับเป็นฝ่ายคัดค้านข้อเสนอของฝ่ายไทย
เพราะเกรงว่าการเปลี่ยนแปลงสูตรอาหารเสริมทารก/เด็กอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของสหภาพ
ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารเสริมสำหรับทารกรายใหญ่ป้อนตลาดโลก
แต่ข้อเสนอของฝ่ายไทยก็ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก Codex ไม่ต่ำกว่า
10 ประเทศ
ดังนั้นการจัดประชุม Codex
ครั้งต่อไปที่ประเทศเยอรมนีจะเป็นเจ้าภาพขึ้นในปี 2550
ประเทศไทยก็จะผลักดันแนวคิดดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการของ
Codex อีกครั้งหนึ่ง โดยเตรียมล็อบบี้ให้ประเทศต่างๆ
หันมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวให้มากขึ้นในอนาคต
หน้า 10
|
|
|
|
ที่มา
:ประชาชาติ
วันที่
20
พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
. |
|
|