เดินสายแจงนักลงทุนต่างชาติ ประเดิมญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐ
บอร์ดประชุมนัดแรก 20 พ.ย.นี้ กำหนดแนวทางกระตุ้นลงทุน
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า
จากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 36.70
บาทต่อเหรียญสหรัฐ ถือว่าแข็งค่าขึ้นจากช่วงที่ผ่านมากว่า 10%
ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาหารส่งออกส่วนใหญ่ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักในช่วงสิ้นปีนี้
และต้นปี 2550
เพราะสินค้าที่ตกลงราคาไว้ล่วงหน้าไม่คาดคิดว่าเงินบาทจะแข็งค่ามากเช่นนี้
"อุตสาหกรรมอาหารใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก
เมื่อต้นทุนเป็นบาทแต่พอส่งออกต้องเป็นเหรียญฯ
การเจรจาตกลงราคาเราต้องตกลงราคาล่วงหน้า
แต่บาทเราแข็งค่าเร็วเกินไปเมื่อเทียบกับภูมิภาค ทำให้การส่งออกขาดทุน
และห่วงว่าหากยังเป็นต่อเนื่องจะทำให้การแข่งขันกับเพื่อนบ้านที่ค่าเงินเขาไม่ได้แข็งมากลำบาก
และอาจจะทำให้ในระยะยาวหลายๆ อุตสาหกรรมต้องปิดกิจการลง" นายไพบูลย์กล่าว
นายธำรง ธิติประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า ส.อ.ท.กล่าวว่า
ค่าเงินบาทแข็งค่ามากหากเทียบกับภูมิภาค
ทำให้การแข่งขันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมรองเท้าคือ จีน เวียดนาม และมาเลเซีย
มีปัญหามาก เพราะไม่สามารถตกลงราคาตามที่ลูกค้าต่อรองได้
ส่งผลให้ผู้ส่งออกรองเท้าของไทยกำลังประสบปัญหาขาดทุนมาก
ทั้งนี้
ค่าเงินบาทที่อาจจะแข็งค่าไปถึงระดับ 35.5-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
เหมือนที่หลายสำนักประเมินในปี 2550
นั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับผู้ส่งออก
เพราะหากเทียบกับภูมิภาคแล้วค่าเงินบาทของไทยควรแข็งค่าสอดคล้องกับภูมิภาค
ไม่ใช่แข็งกว่าเช่นปัจจุบัน
ซึ่งไม่เข้าใจว่าเวียดนามที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งมาก
มีเงินทุนไหลเข้าไม่น้อยไปกว่าไทย
ทำไมรัฐบาลจึงสามารถบริหารจัดการไม่ให้ค่าเงินของเขาแข็งค่าได้
นายเจน นำชัยศิริ
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส.อ.ท.ยอมรับว่า
ขณะนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังประสบปัญหาการขาดทุนเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอาหารและรองเท้า
เนื่องมาจากภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
นายกมล ตันติวณิชย์
ผู้จัดการสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย กล่าวว่า
ค่าเงินบาทของไทยปัญหาอยู่ที่แข็งค่าเกินกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาค
และหากยังคงแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงปี 2550
คาดว่าจะมีผลให้การส่งออกสิ่งทอไทยลดลงมาก
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า
หลังจากที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ชี้แจงต่อนักลงทุนต่างชาติ
ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยมีความเข้าใจมากขึ้นว่า
นโยบายที่แท้จริงของรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร
และจะมีทิศทางไปทางใดภายในระยะเวลาการทำงาน 1 ปี
อย่างไรก็ตาม
ในส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย
รัฐบาลก็ต้องพยายามสื่อความหมายให้นักลงทุนเหล่านั้นเข้าใจอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในส่วนของบีโอไอเองก็มีการชี้แจงแก่นักลงทุนต่างชาติไปหลายครั้งแล้วว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายส่งเสริมการลงทุน
โดยในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ จะเดินทางไปชี้แจงทำความเข้าใจ
และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน
ส่วนสหรัฐเป็นช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้
ทั้งนี้
จะมีการประชุมบอร์ดบีโอไอนัดแรก หลังมีการจัดตั้งบอร์ดใหม่ในวันที่ 20
พ.ย.นี้ เบื้องต้นจะมีการหารือถึงนโยบายการดำเนินงานของคณะกรรมการ
และแนวทางการส่งเสริมการลงทุนทั้งในเรื่องของการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพ
รวมทั้งความพร้อมของผู้ประกอบการด้วย.
|