เอกชนเฮ ส่งออกกุ้งไทยไปญี่ปุ่นมีอนาคตสดใส
หลังญี่ปุ่นตรวจพบสารปฏิชีวนะตกค้างในกุ้งเวียดนาม
คาดส่งผลดีหันมานำเข้ากุ้งแช่แข็งจากไทยแทน
ขณะที่การส่งออกกุ้งแปรรูปไปญี่ปุ่น 9 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 10%
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย
กล่าวว่า จากกรณีที่ญี่ปุ่นตรวจเข้มการนำเข้าปลาหมึกจากเวียดนาม
และระงับการนำเข้าหลังจากตรวจพบสารปฏิชีวนะตกค้างคลอแรมฟินิคอลในระดับสูง
ทำให้มีการตรวจกุ้งจากเวียดนามขณะนี้มีความเข้มงวดขึ้น
และมีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะระงับการนำเข้ากุ้งจากเวียดนามนั้น
ทำให้เป็นผลดีต่อการส่งออกกุ้งของไทย
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงสิ้นปี
ญี่ปุ่นจะหันมานำเข้ากุ้งจากไทยมากขึ้น
เนื่องจากที่ผ่านมากุ้งของไทยไม่มีปัญหาเรื่องสารคลอแรมฟินิคอลมาก่อน
โดยเชื่อว่าการส่งออกกุ้งไทยไปญี่ปุ่นจะมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต
จากปัจจุบันไทยมีการส่งออกกุ้งแปรรูปไปญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 19.45%
ส่วนกุ้งแช่แข็งนั้น ญี่ปุ่นจะนำเข้าจากเวียดนาม และอินโดนีเซีย มากกว่า
เพราะมีราคาถูกกว่ากุ้งของไทย
"เหตุที่กุ้งเวียดนามและอินโดนีเซียมีราคาถูกกว่ากุ้งไทย
ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนด้านแรงงานที่ต่ำกว่า
แต่จากปัญหาการตรวจพบสารคลอแรมฟินิคอล
คาดว่าผู้ประกอบการของญี่ปุ่นจะหันมาสั่งออเดอร์กุ้งแปรรูปจากไทยมากขึ้น"
อย่างไรก็ตาม
จากตัวเลขการส่งออกกุ้งไปตลาดญี่ปุ่นช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมา
ไทยสามารถส่งออกกุ้งแปรรูปไปตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น 10%
ส่วนตัวเลขจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ระบุว่า การส่งออกกุ้ง 8 เดือนแรก
มีมูลค่า 1,255.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.67%
เมื่อเทียบกับการส่งออกช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ส่งออกได้ 1,057.71
ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนปริมาณกุ้งของไทยปีนี้ คาดว่าจะมีประมาณ 3.5-4
แสนตัน และมีการส่งออกประมาณ 3 แสนตัน หรือมีมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท
เนื่องจากทุกตลาดมีการขยายตัว
|