แบงก์กระตุ้นผู้ส่งออกวางแผนป้องกันความเสี่ยงค่าเงินมากขึ้น
พร้อมปรับโครงสร้างธุรกิจ กระจายตลาดส่งออก
มองแบงก์ชาติต้องคิดให้รอบคอบในการดูแลค่าเงินบาท
หากเข้มงวดเกินไปอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ระบุการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ช่วยให้เงินบาทหยุดแข็งค่า
ดร.เชาวน์ เก่งชน
รองกรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.)
มีความจำเป็นที่จะต้องคิดให้รอบคอบในการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในขณะนี้
เพราะมาตการที่เข้มงวดเกินไปอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่นักลงทุนระยะสั้น แต่ยังมีนักลงทุนระยะยาวด้วย ดังนั้น
ทางออกของปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
จึงอยู่ที่การวางแผนการทำธุรกิจของภาคเอกชนที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงด้านค่าเงินบาทมากขึ้น
รวมทั้งจะต้องมีการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจรวมทั้งการกระจายตลาดส่งออกด้วย
ด้าน ดร.บันลือศักดิ์
ปุสสะรังษี ผู้จัดการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า
การจะให้ภาคเอกชนปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันนั้น
เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ภายในเวลาอันใกล้นี้ ดังนั้น
ในช่วงนี้เอกชนก็อาจจะจำเป็นต้องทำการซื้อเครื่องมือประกัน (เฮดจ์) ค่าเงิน
รวมทั้งการทำสัญญาซื้อขายเงินล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาท
ขณะที่นายสุธีร์
โล้วโสภณกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า หาก ธปท.เปิดให้มีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
และปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น
ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันและภาระในการเข้าแทรกแซงของ ธปท.ได้
และขณะนี้ผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง
โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้
เพราะแนวโน้มค่าเงินบาทได้ปรับแข็งค่าขึ้นมามากและเร็วมากแล้ว
และใกล้สู่ช่วงสูงสุดแล้ว
ด้าน น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด
กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในปีหน้าคาดว่าจะอ่อนลงจากปีนี้
เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นในปัจจุบันเกินปัจจัยพื้นฐาน
จึงไม่น่าจะคงระดับไว้นาน และนักลงทุนก็คงจะทยอยขายเอากำไรออกไป
ขณะเดียวกันการออกมาตรการต่างๆ ของ ธปท.เพิ่มเติมในเร็วๆ นี้
น่าจะช่วยลดการเก็งกำไรค่าเงินบาทลงได้
อย่างไรก็ตาม ธปท.ไม่จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินลง
เนื่องจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ไม่ได้เป็นผลมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย
โดยปัจจุบันนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ ถึง 0.25%
อยู่แล้ว
การลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง
นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงยังอาจจะทำให้มีผลถึงเงินเฟ้อได้อีก
เพราะราคาน้ำมันยังมีโอกาสที่จะปรับราคาสูงขึ้นได้อีก