การขยายตัวของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นมากและอยู่ในอัตราค่อนข้างสูงในแต่ละปี
โดยในปี 2549 มีจำนวนผู้ใช้อิเนทอร์เน็ตในประเทศไทยประมาณ 8.5
ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 13 ของประชากรรวมทั้งประเทศ
ด้วยการพัฒนารูปแบบของข้อมูลและความต้องการส่งข้อมูลในปริมาณที่สูงขึ้นนั้น
ส่งผลให้ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
(Hi-speed Internet) หรือ
อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (Broadband Internet)
ซึ่งสามารถรับส่งข้อมูลได้ในปริมาณมากและรวดเร็วมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดระดับองค์กรและผู้ใช้ตามบ้าน
ทำให้ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทยอยู่ในอัตราที่ไม่สูงมากนัก
นอกจากนั้นธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังได้รับปัจจัยบวกจากการสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการด้านข้อมูลข่าวสารต่างๆผ่านระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้นและอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับการที่เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำหรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมีราคาถูกลง
จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ขณะที่
การเปิดเสรีการเชื่อมต่อวงจรต่างประเทศ หรือ International
Internet Gateway
จะทำให้ช่องทางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่
4 ราย ทำให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วขึ้นนอกจากนั้น
ยังช่วยให้ธุรกิจบริการเสริมของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นบริการด้านข้อมูลมัลติมีเดีย
บริการโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เนต (IPTV)
ตลอดจนบริการโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เนต (VoIP)
อันจะทำให้ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีมากขึ้นด้วย
สำหรับการแข่งขันในหมู่ผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดและกระตุ้นการเติบโตของยอดผู้ใช้บริการยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ให้บริการรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดภายหลังจากได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจจาก
กทช.
อันจะทำให้ภาวะการแข่งขันในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเริ่มมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ควบคู่ไปกับจำนวนผู้ใช้บริการที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
|