การประกาศตัวเลขการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของ
International Institute for Management Development (IMD)
จาก 55 ประเทศทั่วโลก ในปี 2550 นี้ เปิดเผยว่า
ความสามารถในการแข่งขันโดยภาพรวมแล้วไทยอยู่ในอันดับที่
33 ลดลง 4 อันดับจากอันดับที่ 29 ในปี 2549 โดยมีปัจจัยทางด้านเสถียรภาพทางด้านการเมืองมากระทบ นอกจากนี้การประกาศผลการจัดอันดับประเทศที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(Information and Communication Technology : ICT) ของ
อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจ้นต์ ยูนิต (อีไอยู) ในปี 2550
ยังพบว่าความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยอยู่ในอันดับที่
49 จาก 69 ประเทศที่เข้ารับการจัดอันดับ ลดลงจากอันดับที่
47 ในปี 2549 โดยในปีนี้ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีความพร้อมทางด้านไอซีทีเป็นอันดับ
1 รองลงมาเป็นสหรัฐ และสวีเดน ที่อยู่ในอันดับ 2
เท่ากัน ส่วนประเทศในแถบเอเชียก็ติดหนึ่งใน 10
อันดับแรกได้แก่ ฮ่องกง อันดับ 4 สิงคโปร์อันดับ 6 ส่วนในระดับอาเซียนอื่นๆ
นั้นไทยยังเป็นรองมาเลเซียที่อยู่ในอันดับที่ 36
การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆ
นั้นได้กลายเป็นดัชนีที่ชี้วัดถึงความน่าสนใจที่จะเข้าลงทุนจากประเทศต่างๆ ซึ่งแนวโน้มหรือสภาวะของการแข่งขันในตลาดโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการความรุนแรงค่อนข้างมากนั้น
ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของการลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อหาแหล่งผลิตสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดในลักษณะ
global sourcing หรือหาตลาดใหม่ๆ
ที่มีแนวโน้มการขยายตัวของตลาดได้อีกมาก (emerging
market)
ในขณะเดียวกันกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็ได้แข่งขันกันเพื่อให้เป็นแหล่งลงทุนเพื่อนำพาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าและขยายเศรษฐกิจในประเทศให้ดีขึ้น เครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศส่วนใหญ่ได้แก่การลงทุนทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศ
ให้สอดคล้องกับการเติบโตของการใช้เทคโนโลยีของโลก
ทั้งนี้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญของการดำรงชีวิตของประชาชนมาก
นอกจากนี้ไอซีทียังนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับในประเทศไทยความแพร่หลายของการใช้เทคโนโลยียังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักและมีการเติบโตขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีในระดับนานาประเทศแล้ว
จะพบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ
และมีแนวโน้มที่จะถูกประเทศอื่นๆ
ก้าวผ่านไทยไปในเวลาไม่ช้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เห็นว่า
ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีต่างๆ
ให้มีความแพร่หลายและสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้ในวงกว้างกว่าที่เป็นอยู่ การเร่งกระตุ้นให้มีการใช้ไอซีทีเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการดำเนินธุรกิจให้มีความสะดวก
รวดเร็ว
การเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด
และที่สำคัญคือการปรับบทบาทของภาครัฐในการทำงานเชิงรุกเพื่อมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมไอซีทีในประเทศก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่และเป็นการส่งเสริมให้นำไอซีทีมาใช้ในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของประเทศให้เท่าเทียมกับนานาชาติ
ย้อนกลับ: |