การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
คือ การเดินทางเพื่อท่องเที่ยวและพ่วงกิจกรรมด้านสุขภาพ ได้แก่
โปรแกรมการตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลและคลินิก
รวมทั้งโปรแกรมแพทย์ทางเลือก อาทิ การนวดแผนไทย และสปา ไว้ด้วย
ตลาดท่องเที่ยวสุขภาพจึงมีการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าตลาดท่องเที่ยวทั่วไป
และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วตามกระแสการเอาใจใส่ดูแลในด้านสุขภาพที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน
โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในสี่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย
ที่ได้รับการยอมรับในบริการด้านสุขภาพจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย
เนื่องจากมีหลายปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุน
โดยเฉพาะความได้เปรียบในเรื่องค่าใช้จ่ายในบริการด้านการแพทย์ที่ถูกกว่า
ด้วยมาตรฐานในการรักษาระดับเดียวกับโรงพยาบาลในยุโรป อเมริกา
และออสเตรเลีย รวมทั้งยังไม่ต้องรอคิวในการรักษานานเช่นในยุโรป
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพส่วนใหญ่ของไทยยังกระจุกตัวอยู่ตามกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยวสำคัญ
อาทิ ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่
ซึ่งมีความพร้อมในด้านบริการทางการแพทย์
และบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ
บริการด้านการแพทย์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย
ได้แก่ การตรวจเช็คสุขภาพ การทำเลสิค ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม
การผ่าตัด และการพักฟื้น เป็นต้น นอกจากนี้
บริการด้านแพทย์ทางเลือกของไทย อาทิ นวดแผนไทย และสปา
ก็มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก
ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีขอบเขตกว้างขวางโดยครอบคลุมตั้งแต่การเดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปจนถึงการท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมทางการแพทย์และการแพทย์ทางเลือก
จึงเป็นการยากที่จะกำหนดขนาดของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยรวมได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม
สำหรับตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในส่วนที่ใช้บริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนนั้น
สามารถประเมินขนาดของตลาดในเบื้องต้นได้จากสถิติการเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนไทยของชาวต่างประเทศ
ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 60
จะเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และร้อยละ 40
เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย
โดยในปี 2544
มีชาวต่างชาติที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนไทยรวมทั้งสิ้น
550,161 คนและเพิ่มขึ้นเป็น 1,249,984 คนในปี 2548
หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 24 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2544-2548
จากแนวโน้มดังกล่าวประกอบกับปัจจัยหลายประการที่ยังเกื้อหนุนต่อการเติบโตของตลาดคนไข้ชาวต่างประเทศของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของไทย
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
จึงคาดการณ์ว่า
การใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนไทยของชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยและที่เดินทางมาจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ
12 เป็นประมาณ 1.4 ล้านคนในปี 2549 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10
เป็นประมาณ 1.54 ล้านคนในปี 2550
จากจำนวนชาวต่างชาติทั้งหมดที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนไทย
1.54 ล้านคนในปัจจุบัน
คาดว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนไทยประมาณ
6.16 แสนคน
ซึ่งสร้างรายได้ในด้านบริการทางการแพทย์คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ
16,000 ล้านบาท
นอกเหนือจากการใช้จ่ายในบริการด้านการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ
20,000 ล้านบาท
โดยรวมแล้วคาดว่า ในปี 2550
ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในส่วนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ
36,000 ล้านบาท
ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก
แม้จะประสบกับการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย
คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย ก็ตาม
ทั้งนี้เนื่องจากความได้เปรียบจากจุดเด่นในด้านงานบริการของคนไทยที่นุ่มนวลและอ่อนโยน
ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่มาใช้บริการ
และการพัฒนาในด้านบริการทางการแพทย์เฉพาะด้านของโรงพยาบาลเอกชนไทยที่ได้มาตรฐานระดับสากล
ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลของไทยถูกกว่าสิงคโปร์ถึง 2
เท่าตัวนอกจากนี้ประเทศไทยยังมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว
ด้วยความพร้อมในด้านแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์และหลากหลายในทั่วทุกภาคของประเทศ
รวมทั้งความพร้อมในด้านบริการรองรับการท่องเที่ยว
ตลาดเป้าหมายสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในส่วนที่ใช้บริการในโรงพยาบาลของไทย
ได้แก่ ญี่ปุ่น
เนื่องจากมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียจำนวนมาก
ประกอบกับรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้ประชาชนเบิกค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลในต่างประเทศได้
และตะวันออกกลาง
ซึ่งหันมาใช้บริการทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งประเทศไทย
หลังจากประสบปัญหาการขอวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปหลังเกิดเหตุการณ์
11 กันยายน 2544
ซึ่งมาเลเซียเองก็ให้ความสำคัญกับตลาดตะวันออกกลาง
เพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นชาติมุสลิมเหมือนกัน
การขยายตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ไม่เพียงจะเพิ่มพูนรายได้ด้านบริการทางการแพทย์เข้าประเทศปีละจำนวนมาก
แต่ยังมีรายได้ในส่วนบริการด้านการท่องเที่ยวตามมาอีกจำนวนไม่น้อย
จากการพักผ่อนท่องเที่ยวของผู้ที่เข้ารับบริการทางการแพทย์เอง
และบรรดาญาติพี่น้องที่ติดตามเข้ามา
ซึ่งจะต้องมีการใช้จ่ายในด้านต่างๆระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศไทย
ทำให้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งให้พันธมิตรทางธุรกิจ คือ
บริษัทนำเที่ยวชั้นนำมาตั้งเคาน์เตอร์ภายในโรงพยาบาลเพื่อขายโปรแกรมนำเที่ยวในประเทศไทยแก่คนไข้และญาติที่ติดตามมา
และโรงพยาบาลหลายแห่งขยายการลงทุนในธุรกิจที่ต่อเนื่อง อาทิ
ธุรกิจด้านที่พักในรูปแบบเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์
และธุรกิจนำเที่ยวเชิงสุขภาพ
นอกจากนี้
ยังมีการขยายตัวของบริการด้านสุขภาพนอกโรงพยาบาลในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ
เช่น ภูเก็ต และเชียงใหม่ เพื่อรองรับลูกค้าชาวต่างชาติ อาทิ
คลินิกทำฟัน และคลินิกศัลยกรรมความงามที่ได้มาตรฐานสากล
ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยเฉพาะที่ใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลยังมีลู่ทางที่ขยายตัวได้อีกมาก
และสร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศ
ทั้งในส่วนของบริการทางการแพทย์และบริการด้านการท่องเที่ยว
หากภาครัฐให้การสนับสนุนด้วยการเจรจาในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล
เพื่อขยายตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในกลุ่มที่ภาครัฐมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล
เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นต้น
รวมทั้งเร่งแก้ไขระเบียบต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไข้ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษาในประเทศไทย
ขณะที่ภาคเอกชนทั้งโรงพยาบาลเอกชน
ธุรกิจบริการทางการแพทย์นอกโรงพยาบาล
และธุรกิจบริการด้านแพทย์ทางเลือก
ตลอดจนธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว
จะต้องพัฒนาในด้านการบริการให้ได้มาตรฐานระดับสากล
ความพร้อมในด้านบุคลากร และอุปกรณ์ต่างๆ
รวมทั้งควบคุมมาตรฐานการบริการเพื่อความเชื่อถือในระยะยาว
และกำหนดอัตราค่าบริการที่ยุติธรรม
โดยไม่โก่งราคาเอาเปรียบลูกค้า หรือตัดราคากันเอง
|