ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในครึ่งแรกปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
คาดว่าน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 1-3
หรือยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากปีก่อน
และชะลอตัวลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 2546-2548 ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบในด้านบวกต่อกำลังซื้อและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังไม่ชัดเจนมากนัก
ในขณะที่ปัจจัยลบกลับมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบชัดเจนกว่าไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และสถานการณ์การเมืองที่ยังคงผันผวน
อย่างไรก็ตาม ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง
คาดว่ามูลค่าค้าปลีกในช่วงครึ่งหลังปี 2550
น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-5 ซึ่งกระเตื้องขึ้นพอสมควรเมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี
2550 นอกจากนี้ในครึ่งหลังปี 2550
ยังมีปัจจัยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน
อันจะนำมาสู่การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจค้าปลีกตามมาหลายปัจจัยด้วยกัน
ไม่ว่าจะเป็นมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่คาดว่าจะเห็นผลได้ชัดเจนมากขึ้น หรือสถานการณ์ดอกเบี้ยที่เริ่มมีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม
การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วง 6 เดือนหลังปี 2550
ยังคงขึ้นอยู่กับรายได้และรสนิยมเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคจะมีแนวโน้มบริโภคสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น
หรือมีความคุ้มค่าต่อการจับจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้กลยุทธ์ที่น่าจะก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นอย่างชัดเจนคือ กลยุทธ์ด้านราคา
ที่น่าจะมีทั้งการเพิ่มส่วนลดให้สูงขึ้นในแต่ละประเภทสินค้าหมุนเวียนกันไปอย่างต่อเนื่อง และกลยุทธ์การสร้างความแตกต่างโดยคำนึงถึงพฤติกรรมหรือวิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ทั้งในส่วนของสถานที่
และสินค้า โดยเฉพาะการนำเสนอสินค้าที่เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภค
หรือสินค้าที่กำลังเป็นที่นิยม เช่น สินค้าอิงกระแสสุขภาพ
และสินค้าจากเกาหลี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการซื้อสินค้าของกิจการ
และไม่หันไปซื้อสินค้าของคู่แข่ง
นอกจากนี้ผู้ประกอบการแต่ละรายก็น่าจะมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อสะดวกต่อการนำเสนอกลยุทธ์ที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่หนทางที่กิจการยังคงรักษาสัดส่วนกำไรเอาไว้ได้ แม้ยอดขายจะไม่ได้เพิ่มขึ้นในยุคที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมระมัดระวังการใช้จ่าย และมีทางเลือกมากขึ้นเช่นปัจจุบัน
|