เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนเกิดการเรียกร้องจากผู้ส่งออกให้ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ธปท.) แก้ปัญหาดังกล่าว
ก็ได้รับการตอบสนองโดยมีการเสนอว่า
นอกจากจะให้ผู้ส่งออกสามารถถือเงินตราต่างประเทศได้ระยะเวลานานขึ้นแล้ว
ยังจะให้คนไทยสามารถนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
แต่ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นเป็นธรรมดาที่คนไทยส่วนใหญ่ย่อมขาดความกระตือรือร้นที่จะหันไปถือเงินตราต่างประเทศ
เพราะทราบดีว่า ในปี
2549 นี้
เงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 10%
เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและถือว่าเป็นเงินที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในบรรดาเงินของเอเชียทั้งหมด
ความกลัวเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทนั้น
ทำให้คนไทยบางคนไม่ยอมลงทุนใดๆ
ในต่างประเทศที่คำนวณผลตอบแทนในสกุลดอลลาร์ เช่น
หากมีกองทุนซึ่งลงทุนในหุ้นในเอเชีย
หน่วยของการลงทุนนั้นคำนวณโดยอาศัยเงินดอลลาร์สหรัฐ
ก็จะทำให้คนไทยบางคนไม่ยอมพิจารณาลงทุนในกองทุนดังกล่าว
เพราะกลัวว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เกิดการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
กล่าวคือกลัวเงินบาทแข็งค่าทำให้การลงทุนที่คำนวณเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐต้องประสบการขาดทุนนั่นเอง
ถ้าพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว
ท่านก็คงจะเห็นได้ว่าแนวคิดดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่ถูกต้อง
เพราะการลงทุนจะทำให้เกิดการขาดทุนหรือกำไรนั้นย่อมจะถูกกำหนดโดยลักษณะของการลงทุนเป็นหลักไม่ใช่หน่วยเงินที่นำมาคำนวณในเชิงของการทำบัญชี
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีผลก็ควรจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินต้นทางและปลายทางไม่ใช่สกุลเงินตัวกลาง
เช่น
หากมีการนำเอาเงินไปลงทุนในหุ้นที่อินโดนีเซียตั้งแต่ต้นปีนี้
ก็จะพบว่าการลงทุนดังกล่าวทำกำไรให้กับนักลงทุนถึง
40% ในช่วง 10
เดือนที่ผ่านมา และถ้าเงินอินโดนีเซียแข็งขึ้น
5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
ผลตอบแทนจะเป็น 45%
ขณะเดียวกัน ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง 5%
เมื่อเทียบกับบาท
ดังนั้น เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนในรูปเงินบาทก็จะเหลือ
40% เท่าเดิม ทั้งนี้
เพราะอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินอินโดนีเซียและเงินบาท
ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ดังนั้น
การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว
ถ้าจะมีต้นทุนเกิดขึ้น
ก็คือต้นทุนในการแลกเปลี่ยนเงินตรานั่นเอง
จึงขอให้นักลงทุนแยกกันให้ออกระหว่างการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ
ซึ่งต้องพิจารณาลักษณะของการลงทุนของกองทุนไม่ใช่เงินสกุลที่นำไปใช้คำนวณมูลค่าของการลงทุนสำหรับเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพิจารณาจาก
3 ปัจจัยหลักคือดุลการค้า
(การนำเข้าและการส่งออกสินค้า) ดุลบริการ (รายได้สุทธิจากการท่องเที่ยวและการจ่ายเงินปันผลสุทธิ)
และการไหลเข้าของเงินทุนทั้งเงินทุนที่นำมาลงทุนตรงเพื่อตั้งโรงงานผลิตสินค้าในไทยและเงินลงทุนทางอ้อมซึ่งนำมาซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทยหรือมาซื้อพันธบัตร
เพื่อรับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยในประเทศไทย
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น?
จากข้อมูลที่มีอยู่
ผมสรุปว่ามีสาเหตุหลักๆ 3
ประการคือ
1. การนำเข้าชะลอตัว :
การปรับลดลงของราคาน้ำมันและการชะลอการลงทุนโดยตรง
ซึ่งทำให้การนำเข้าสินค้าต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทุนนั้นขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากประมาณ
25% ต่อปีในปี 2546-2548
เหลือไม่ถึง 10%
ในปี 2549
การขยายตัวที่ลดลงดังกล่าว
ทำให้เม็ดเงินไหลออกลดลงประมาณเดือนละ 1,500
ล้านดอลลาร์
2. การส่งออกขยายตัวได้ดี : ในขณะเดียวกัน การส่งออกซึ่งขยายตัวโดยเฉลี่ยประมาณ
15-17% ในช่วง 4
ปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะชะลอตัวลงแต่อย่างใด
แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงจาก 4%
เหลือไม่ถึง 2%
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรนั้นปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้
ประเทศไทยสามารถขยายทั้งปริมาณสินค้าและราคาสินค้าส่งออกก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมกันไป
การที่การขยายตัวของการส่งออกไม่ได้ชะลอตัวลงเหลือประมาณ
7-8% ดังที่หลายฝ่าย (รวมทั้งภัทรคาด)
ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศมากเกินคาดประมาณเดือนละ
800-900 ล้านดอลลาร์
3. อัตราดอกเบี้ยจริงสูง : เมื่ออัตราเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างรวดเร็วจากกว่า
6% มาเหลือ 2.8%
ภายใน 3-4
เดือน ดอกเบี้ยนโยบายที่ 5%
ซึ่งเดิมไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อกลายเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากเมื่อเทียบกับระดับเงินเฟ้อในขณะนี้
ความตึงตัวของนโยบายการเงินนั้นมองได้อีกทางหนึ่ง
คือธปท.จำกัดให้ปริมาณเงินพื้นฐาน (Base money)
ขยายตัวประมาณ 5%
ในปีนี้
ในขณะที่การขยายตัวของจีดีพีบวกเงินเฟ้อนั้นสูงกว่า
10%
หรือสูงกว่าการขยายตัวของสภาพคล่องแบบครึ่งต่อครึ่ง
เมื่อนักลงทุนและนักเก็งกำไรต่างประเทศเห็นเช่นนี้ก็สรุปได้ไม่ยากว่าเงินบาทจะสามารถแข็งค่าได้อย่างต่อเนื่องในระยะสั้น
จึงนำเงินเข้ามาลงทุนในระยะสั้น
ทำให้ธปท.ต้องออกมาตรการเพื่อสกัดการไหลเข้าของเงินทุนดังกล่าว
เช่น การห้ามมิให้ธนาคารขายบีอี (พันธบัตรระยะสั้น)
ให้กับต่างชาติและอนุญาตให้การดำเนินธุรกรรมทางการเงินกับต่างชาติที่มากกว่า
50 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเป็นการทำธุรกรรมเพื่อการค้าและการลงทุนเท่านั้น
ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไรในอนาคต
จึงขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน การพลิกฟื้นของการลงทุน
การส่งออกและนโยบายดอกเบี้ยของธปท.
ซึ่งหากมองโดยรวมก็ต้องสรุปว่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นไปได้อีก
แต่คงจะไม่ได้มากนักและธปท.คงพยายามจะสกัดการแข็งค่าของเงินบาทอย่างไม่ลดละ
คำถามที่ตามมาคือคนไทยควรลงทุนในต่างประเทศทั้งๆ
ที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นหรือไม่? คำตอบของผมคือ
ควรกระจายความเสี่ยงโดยการไปลงทุนในต่างประเทศ
เพราะในระยะยาว 4-5 ปี
ซึ่งประเทศไทยต้องเร่งการลงทุนและเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะชะลอตัวลงอย่างยืดเยื้อ
(เพราะสร้างหนี้มามาก)
น่าจะทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นและอาจปรับลดลงได้
ที่สำคัญคือการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศขนาดใหญ่ๆ
นั้น จะช่วยกระจายความเสี่ยงได้จริง
ดังเห็นได้จากการคำนวณความสัมพันธ์ของความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นอื่นๆ
ในช่วง
2000-2006 ในตารางข้างล่างนี้
ความผันผวนของหลักทรัพย์ไทยกับหลักทรัพย์
ดาวโจนส์
0.43
แนสแด็ก -0.12
เอส แอนด์ พี
0.09
แด็ก (เยอรมัน) -0.19
นิกเคอิ
0.12
หั่งเส็ง
0.37
ดอสพี (เกาหลี)
0.80
ไต้หวัน
0.25
เซี่ยงไฮ้ (B)
-0.41
มาเลเซีย
0.76
สิงคโปร์
0.64
อินโดนีเซีย
0.87
ฟิลิปปินส์
0.72
ออสเตรเลีย
0.75
สถิติในช่วง
6 ปีที่ผ่านมา
ทำให้สามารถสรุปได้ว่าหากต้องการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว
ก็ควรหากองทุนที่ซื้อหุ้นสหรัฐ เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน
ไต้หวัน และฮ่องกง แต่ไม่ควรไปลงทุนในหุ้นเกาหลี
มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์
และออสเตรเลีย
เพราะตลาดหุ้นดังกล่าวเคลื่อนไหวไปในทางเดียวกันทำตลาดหุ้นไทยเป็นส่วนใหญ่ครับ
|