การส่งออกของไทยในปี
2550 ต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายประการ
นอกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ
และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี
(Non-Tariff Barriers : NTBs)
ถือเป็นปัญหาท้าทายต่อการส่งออกของไทยในปี 2550
ที่ทางการตั้งเป้าหมายให้การส่งออกเติบโต
12.5% และเป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรี (FTA)
ด้วย ไทยประสบอุปสรรคการส่งออกจากมาตรการ
NTBs จากประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรป
ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของไทย
รองจากอาเซียน และสหรัฐอเมริกา โดยสหภาพยุโรปใช้มาตรการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด
(Anti-Dumping : AD)
กับข้าวโพดหวานกระป๋องของไทยที่อัตรา AD 13.2%
และในปีนี้สหภาพยุโรปมีแผนการออกข้อกำหนดใหม่ด้านมาตรฐานสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้นทั้งสินค้าเกษตร
เช่น สินค้าอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น
สินค้าเคมีภัณฑ์และสินค้าที่มีส่วนประกอบของสารเคมี
นอกจากนี้
ตลาดส่งออกใหม่ที่สำคัญของไทยอย่างออสเตรเลียและอินเดีย
ซึ่งแม้มูลค่าการส่งออกของไทยยังไม่มากนักในขณะนี้
แต่เป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยอยู่ในระดับสูง
และเป็นตลาดที่ไทยจัดทำความตกลง FTA ด้วย
ทำให้สินค้าส่งออกของไทยได้รับผลดีจากการลดภาษีภายใต้ FTA
อย่างไรก็ตาม
สินค้าส่งออกของไทยต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการ
NTBs ของออสเตรเลียและอินเดีย เช่น
มาตรฐานสินค้าด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ (Sanitary and
Phytosanitary Measure : SPS Measure)
และการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด
ส่งผลให้สินค้าเกษตรส่งออกของไทยเข้าสู่ตลาดของออสเตรเลีย
และอินเดียได้ยากขึ้น และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เห็นว่า ภาครัฐไทยควรเร่งปรับปรุงกฎระเบียบด้านมาตรฐานสินค้าของประเทศ
สร้างคุณภาพมาตรฐานของสินค้าส่งออกไทย
เพื่อป้องกันมาตรการกีดดันทางการค้าด้านมาตรฐานสินค้าที่เข้มงวด
ซึ่งนอกจากจะลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการ NTBs
ของประเทศคู่ค้าแล้ว
ยังเป็นการป้องกันการทะลักอย่างรวดเร็วของสินค้านำเข้าราคาถูกและคุณภาพต่ำจากการลดภาษีภายใต้ความตกลง
FTA เช่น สินค้านำเข้าจากจีน ได้แก่ หอม กระเทียม
ผลไม้เมืองหนาว (เช่น แอปเปิ้ล และสาลี่) ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
หลังการเปิดเสรีภายใต้กรอบอาเซียน-จีน
ส่งผลเสียหายต่อเกษตรกรไทยที่ปลูกพืช/ผลไม้ชนิดเดียวกันนี้
นอกจากนี้ ภาครัฐควรเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายภายในให้มีประสิทธิภาพ
เกิดความโปร่งใส และเท่าเทียมกัน
เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้าไทยในตลาดโลก เช่น
ความเข้มงวดในการตรวจตราการแอบอ้างการสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้าไทยจากประเทศอื่นและส่งออกไปประเทศที่สาม
ซึ่งอาจทำให้สินค้าไทยถูกมาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด
(Anti-Dumping : AD) จากประเทศนำเข้าได้
สำหรับภาคเอกชนควรเร่งยกระดับคุณภาพสินค้า
เน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D)
และการใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย
และติดตามการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าอยู่ตลอดเวลา
รวมทั้งรับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของประเทศคู่แข่งในตลาดโลก
เพื่อปรับตัวต่อสถานการณ์และวางกลยุทธรับมือได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ภาคเอกชนที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักผลิตเพื่อส่งออกควรแสวงหาโอกาสออกไปลงทุนผลิตในประเทศที่มีต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงงานต่ำ
โดยเฉพาะประเทศในอินโดจีนซึ่งตั้งอยู่ใกล้ไทย
และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อลดผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าในปีนี้
หรือปรับกลยุทธ์โดยหันไปนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อประโยชน์จากต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบที่ต่ำ
ซึ่งเป็นผลมาจากแข็งค่าของเงินบาท
ย้อนกลับ::: |