จากการประกาศผลประกอบการ (ก่อนสอบทาน)
ของธนาคารพาณิชย์ไทยสำหรับทั้งปี 2549 นั้น ปรากฎว่า
ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีกำไรสุทธิจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท
ลดลง 40.57% จากปี 2548
เนื่องจากภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เพิ่มขึ้น
และการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นเกือบ 160% จากปีก่อน ขณะที่
เมื่อพิจารณาฐานะการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์แท้จริงจากกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน
(Operating Profits)
ซึ่งไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านภาษีและการกันสำรองแล้ว
จะพบว่าระบบธนาคารมีกำไรดังกล่าวจำนวน 1.4 แสนล้านบาท
เพิ่มขึ้น 6.1% จากปีก่อน
โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเป็นสำคัญ
สำหรับในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า
การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะเผชิญความท้าทายหลายประการ
ไม่ว่าจะเป็น
ประการแรก การบริหารรายได้และค่าใช้จ่าย
ในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลงที่นำโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธปท.เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ซึ่งคงจะนำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม
จนส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยตามมา
ประการที่สอง การบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านอาคาร สถานที่ และอุปกรณ์ (อันสืบเนื่องจากแผนการขยายช่องทางการขาย
อาทิ สาขา และเครื่องเอทีเอ็ม)
ค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่เติบโตตามการขยายช่องทางการขาย
รวมทั้ง การปรับปรุงระบบเทคโนโลยี ซึ่งรายจ่ายต่างๆ
ดังกล่าวจะยังคงเป็นภาระกับธนาคารพาณิชย์ในปี 2550 และประการสุดท้าย
ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองหนี้เสียเพิ่มเติม ตามเกณฑ์ IAS39
ระยะที่ 2 และ 3ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปีและสิ้นาปี
2550
นอกจากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว
จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในรักษาความสามารถในการทำกำไรไม่ให้ถดถอยลงไปจากปี
2549 แล้ว
ธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่อในบางประเภทธุรกิจ
หรือบางกลุ่มลูกค้า
ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาการเมืองที่ไม่แน่นอน
โดยหากธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถจัดการและปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับตัวแปรเหล่านั้นได้
ก็อาจสามารถรักษากำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรอง) ในปี 2550
ไม่ให้ชะลอลงจากปี 2549 ได้เช่นกัน
ย้อนกลับ::: |