จากการศึกษาวัฏจักรของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับตั้งแต่ทศวรรษ
1980 เป็นต้นมา พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
จะต้องใช้เวลาประมาณ 4-7
ไตรมาสในการฟื้นตัวขึ้นหากเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอย
และธนาคารกลางสหรัฐฯ ตอบรับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ
ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ซึ่งระดับของการผ่อนคลายนโยบายการเงินมีความแตกต่างกันไปตามต้นตอของปัญหาและความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
และเมื่อทำการเปรียบเทียบชนวนของการเกิดวิกฤตซับไพร์มกับวิกฤต
S&L
จะพบว่า วิกฤตเศรษฐกิจทั้ง 2
ครั้งนั้นมีต้นตอมาจากปัญหาของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่า
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดการเงินจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากปัญหาความไร้เสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ
ในครั้งนี้
อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐฯ
ในขณะที่
ความเสียหายทางการเงินที่ทยอยปรากฏออกมาในงบดุลของสถาบันการเงิน
ก็อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน
และอาจทำให้สถาบันการเงินต้องทำการคุมเข้มมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคในรูปแบบอื่นๆ
ซึ่งในท้ายที่สุด
ความเสี่ยงของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
หากปัญหาดังกล่าวมาทั้งหมดได้ส่งผลกระทบกลับไปยังการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ
70 ของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น
แม้ว่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ
คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12.8 ของการส่งออกโดยรวมในปี
2550 (ลดลงจากสัดส่วนประมาณ 16.1 ในปี 2547) อย่างไรก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า ตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ
ยังคงมีความสำคัญต่อภาคส่งออกของไทย
หากพิจารณาถึงผลทางอ้อมที่ปรากฏผ่านการส่งออกสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางไปยังประเทศคู่ค้าของไทยเพื่อที่จะนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่มีจุดหมายปลายทางคือตลาดสหรัฐฯ
โดยหากย้อนกลับไปในปี 2543-2544 ซึ่งช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ
เผชิญกับภาวะถดถอยครั้งล่าสุด จะพบว่า
ภาคส่งออกของไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 7.1
อย่างไรก็ตาม
โครงสร้างของตลาดส่งออกของไทยที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
โดยตลาดส่งออกอื่นๆ อาทิ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จีน
อินเดีย อินโดนีเซีย ตลอดจน บางประเทศในยุโรป
และตะวันออกกลาง เติบโตได้ดีและมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
ก็อาจช่วยลดผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ
ชะลอตัวลงได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ได้ตระหนักถึงประเด็นความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
เป็นอย่างดี
ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวในแถลงการณ์ประจำปีที่ระบุถึง
แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้และธปท.จะยึดกรอบนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อไม่ขยายตัวเกินกว่าเป้าที่กำหนดไว้
ดังนั้นตลาดการเงินและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคงจะต้องติดตามความคืบหน้าของพัฒนาการของวิกฤตการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
เนื่องจากวิกฤตดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังค่าเงินดอลลาร์ฯ
ตลอดจนตลาดการเงินอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
|