ในปี 2550 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน
ซึ่งมีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี
2540 แต่ถึงกระนั้น
ภาคอุตสาหกรรมของไทยยังมีการเติบโตในระดับสูง
โดยเป็นผลมาจากการส่งออกซึ่งขยายตัวสูงตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
แต่ในปี 2551
มีแนวโน้มที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน
โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ก่อตัวขึ้นจากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์
และปัญหาราคาน้ำมันที่ยังมีโอกาสปรับตัวสูงไปอีก
ภาคอุตสาหกรรมไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบสูง
เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยเป็นธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออก
และยังคงมีการพึ่งพาตลาดส่งออกขั้นสุดท้ายไปยังสหรัฐสูง
ขณะเดียวกันไทยก็มีอัตราการพึ่งพาการใช้น้ำมันสูงเป็นอันดับต้นๆในภูมิภาค
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2551
โดยประเมินผลกระทบราคาน้ำมันแบ่งเป็น 3 กรณี คือ
ในกรณีพื้นฐาน (Base
Case)
ถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังยืนตัวในระดับสูง
ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 92
ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับระดับเฉลี่ย 72.5 ดอลลาร์ฯในปี
2550
คาดว่าจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ
4.1-5.7 ชะลอตัวลงกว่าในปี 2550
ที่คาดว่ามีอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.6
ในกรณีมุมมองเชิงบวก (Optimistic
Case)
ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่รุนแรงนัก
โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 85
ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ในกรณีนี้
อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0
ซึ่งยังเป็นระดับที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุน
ตลอดจนการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย
ซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น
คาดว่าจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมไทยจะขยายตัวค่อนข้างดี
คือประมาณร้อยละ 5.0-6.5
ในกรณีเลวร้าย (Worse
Case)
ที่ราคาน้ำมันมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล
การเติบโตของจีดีพีภาคอุตสาหกรรมอาจจะต่ำลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ
3.2-4.9
ทั้งนี้ ในปี 2551
ภาคอุตสาหกรรมไทยเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญคือปัจจัยต้นทุนด้านพลังงานและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น
ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
และแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
โดยเฉพาะปัญหาด้านพลังงานและปัญหาโลกร้อน
อาจสร้างโอกาสให้แก่หลายธุรกิจในการพัฒนาเทคโนโลยีและรูปแบบสินค้าที่ตอบรับกระแสประหยัดพลังงานและรักษาสภาพแวดล้อม
สำหรับปัญหาในระยะปานกลางถึงระยะยาวสำหรับภาคอุตสาหกรรมของไทย
ที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน
ดังนั้น
เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงและปัญหาด้านการแข่งขันที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น
ผู้ประกอบการไทยควรเร่งปรับตัว
โดยหาแนวทางลดต้นทุนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคา
ปรับปรุงประสิทธิภาพในการแข่งขัน
ซึ่งอาจต้องมีลงทุนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทนแรงงาน
รวมทั้งการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
และมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเป้าหมายเป็นตลาดที่สร้างมูลค่าสูง
หรือตลาด
Niche
มากขึ้นเพื่อลดการแข่งขันในด้านราคา
นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์และการค้าเสรี
ที่การแข่งขันขยายไปอย่างไร้พรมแดน
ธุรกิจไทยอาจจำเป็นต้องหันมาพิจารณาโอกาสในการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
เพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพสูง
นอกจากนี้
ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญปัญหาการปรับตัวสู่โครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่
ซึ่งยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศจะต้องมุ่งไปที่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์เป้าหมายของอุตสาหกรรมไทยและยุทธศาสตร์รายสาขา
ขณะที่ภาคเอกชนต้องมีการปรับกระบวนทัศน์และกลยุทธในการแข่งขันเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ขณะเดียวกัน
ภาครัฐก็ต้องมีมาตรการในการรองรับและช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานในโครงสร้างอุตสาหกรรมเดิมให้สามารถปรับตัวไปสู่โครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ได้
|