ในขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังใช้ความตกลงการค้าเสรี (FTA หรือ EPAs :
Economic Partnership Agreements)
เป็นเครื่องมือทางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญด้วยเหตุผล 3 ประการ
ประการแรกเพื่อขยายตลาดการค้า
ประการที่สองเพื่อแสดงบทบาทความเป็นผู้นำของภูมิภาคแข่งกับประเทศจีน
และประการสุดท้ายเพื่อแสวงหาทรัพยากร โดยเฉพาะพลังงานและแร่ธาตุ
FTAs
ของญี่ปุ่นในปัจจุบันทั้งที่มีผลบังคับใช้แล้ว กำลังเจรจา
และอยู่ในระหว่างการศึกษา มีจำนวนถึง 16 FTAs โดย FTA
ที่เจรจากันเสร็จแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ (เป็น FTA แรกของญี่ปุ่น
โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545) เม็กซิโก (มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนเมษายน
2547) มาเลเซีย (ลงนามความตกลงกันแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2548
และมีผลบังคับใช้แล้ว) ไทย (สรุปการเจรจาแล้วเมื่อเดือนกันยายน
2548 แต่รอการลงนามจากทั้ง 2 ประเทศ) ฟิลิปปินส์ (ลงนามแล้วเมื่อเดือนกันยายน
2549 และรัฐสภาของญี่ปุ่นอนุมัติแล้ว
รอแต่การให้สัตยาบันจากรัฐสภาฟิลิปปินส์
ซึ่งอาจจะมีความล่าช้าเนื่องจากมีการต่อต้านจากกลุ่ม NGO
มากในประเด็นการเปิดให้มีการนำเข้าสารเคมีอันตรายเข้าไปในฟิลิปปินส์ได้)
สำหรับ FTA
ที่สามารถสรุปการเจรจาเบื้องต้นได้แล้วและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี
2550 ได้แก่ อินโดนีเซีย (ซึ่งเป็นประเทศที่ป้อนพลังงานที่สำคัญ
คือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ และจะเป็น FTA
แรกของญี่ปุ่นที่มีบทกำหนดเรื่องการประกันการส่งพลังงานแม้ในยามสงคราม)
ชิลี (ซึ่งมีแร่ธาตุมาก เช่น ทองแดง
และเป็นประตูไปสู่กลุ่มเมอร์โคซูร์ในอเมริกาใต้) และบรูไน (ซึ่งเป็นอีกประเทศที่ป้อนพลังงานที่สำคัญ
คือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
และจะมีบทกำหนดเรื่องการประกันการส่งพลังงานเช่นกัน)
ส่วน
FTA ที่กำลังเจรจากันอยู่ ได้แก่ อาเซียน+3 (เริ่มเจรจาเมื่อเดือนเมษายน
2548) เกาหลีใต้ (เริ่มเจรจาเมื่อเดือนธันวาคม 2546 และนับเป็น FTA
สุดท้ายของประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีพรมแดนติดกัน)
รวมถึงสหภาพศุลกากรกลุ่มประเทศความร่วมมือในอ่าวอาหรับ (GCC
ซึ่งเป็นผู้ป้อนน้ำมันดิบแก่ญี่ปุ่นถึง 70%)
FTA ที่จะเริ่มเจรจากัน
ได้แก่ ออสเตรเลีย (ซึ่งมีแร่ธาตุสำคัญ คือ ยูเรเนียม เหล็กถ่านหิน
และก๊าซธรรมชาติ โดยกำลังรอผลการศึกษาของคณะทำงานร่วม) เวียดนาม (จะเริ่มเจรจาในต้นปี
2550 นี้) อินเดีย และสวิสเซอร์แลนด์ (เป็น FTA
แรกที่ญี่ปุ่นกระทำกับประเทศในยุโรป)
นอกจากนี้
ยังมีประเทศที่ญี่ปุ่นหวังจะทำ FTA ด้วย ได้แก่ แอฟริกาใต้ (ซึ่งมีแร่ธาตุมาก
เช่น ทองคำ เพชร และแพลทตินัม) และสหรัฐอเมริกา (ซึ่งองค์กรเอกชนใหญ่อย่าง
Keidanren พยามยาม lobby ให้รัฐบาลทำแต่ยังไม่เป็นผล)
อย่างไรก็ดี
ปัญหาหลักของญี่ปุ่น คือ การปกป้องภาคเกษตรซึ่งมีสัดส่วนเพียง 1 %
ของ GDP และไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
ทำให้ญี่ปุ่นต้องดึงรายการสินค้าเกษตร
โดยเฉพาะข้าวออกจากการเจรจากับประเทศต่างๆเสมอ
ผมเห็นว่ายุทธศาสตร์การจัดทำ FTA
ของญี่ปุ่นก็คล้ายกับยุทธศาสตร์การจัดทำ FTA ของสหรัฐอเมริกา
ได้แก่ ประการแรก จะแยกทำ FTA
เป็นรายประเทศแล้วรวมเป็นกลุ่มประเทศในภายหลัง
ในกรณีของญี่ปุ่นก็คือ อาเซียน-ญี่ปุ่น ส่วนกรณีของสหรัฐฯก็คือ
เขตการค้าเสรีอเมริกา (FTAA) และประการที่สอง คือ
ทั้งญี่ปุ่นกับสหรัฐฯก็ไม่ทำ FTA บางส่วน (Early Harvest) ก่อน
แต่จะทำแบบ Comprehensive แทน
ย้อนกลับ:::
|