ในวันที่
9
มกราคม ที่ผ่านมา
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแก้ไข
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ 2542
ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาในแง่กฎหมายให้มีความรัดกุมมากขึ้นในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวมีอยู่ 3
ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก
ได้แก่ การแก้ไขคำนิยามของคนต่างด้าว
โดยให้เพิ่มเติมประเด็นสิทธิในการออกเสียงด้วย
จากเดิมที่จะดูเพียงแต่สัดส่วนการถือหุ้นให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมด
ประเด็นที่สอง
ได้แก่
ให้มีการแก้ไขบทลงโทษกรณีการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือถือหุ้นแทน
โดยให้เพิ่มโทษปรับเพิ่มขึ้น
ประเด็นที่สาม
ได้แก่ ให้มีการปรับปรุงบัญชีแนบท้ายในส่วนของบัญชีที่
3 (ธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน
เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว)
โดยผ่อนผันให้ธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะอยู่แล้ว (เช่น
ธุรกิจท่องเที่ยว การเงิน หลักทรัพย์ เป็นต้น)
ได้รับการยกเว้นออกจากบัญชีที่ 3
ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจรายเดิมที่มีอยู่แล้วนั้น
ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้ให้ระยะเวลาในการปรับตัว
โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจในบัญชีที่
1 (ธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้ต่างชาติประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษ
เช่น กิจการหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ การค้าที่ดิน เป็นต้น)
และบัญชีที่ 2 (ธุรกิจที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม
เช่น การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ การค้าของเก่าหรือศิลปวัตถุ
เป็นต้น) ซึ่งเป็นคนต่างชาติที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนญาตตาม
พ.ร.บ.ฉบับเดิม
และผู้ที่มีการถือหุ้นแทนคนต่างด้าวจะต้องแจ้งกระทรวงพาณิชย์ภายใน
90 วัน
รวมถึงต้องแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กำหนดภายในเวลา
1 ปี สำหรับบริษัทต่างชาติที่ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ
50 แต่มีสิทธิออกเสียง(Voting
Right)
เกินครึ่งหนึ่งจะต้องแจ้งกระทรวงพาณิชย์ภายใน 1
ปีและแก้ไขสิทธิในการออกเสียงให้ไม่เกินร้อยละ
50 ภายใน 2
ปีหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ส่วนธุรกิจในบัญชีที่ 3
จะต้องแจ้งสัดส่วนการถือหุ้นและแจ้งสิทธิในการออกเสียงของต่างชาติกับกระทรวงพาณิชย์ภายใน
90 วัน และภายใน 1 ปี
ตามลำดับ และสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องลดสัดส่วน
เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง
หรือธุรกิจที่สงวนให้กับคนไทย
ส่วนในกรณีที่เป็นธุรกิจที่เข้ามาใหม่หรือภายหลังกฎหมายอนุมัติจะต้องทำตามที่กฎหมายกำหนด
แต่การแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้จะไม่มีผลต่อธุรกิจประเภทอุตสาหกรรม
ธุรกิจส่งออกและธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการบีโอไอ
ซึ่งทำให้การลงทุนโดยตรง(FDI)
ในอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์
ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ
ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นนั้น
กลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงและอาจจะได้รับผลกระทบจากร่าง
พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มโทรคมนาคมและอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม
จำนวนบริษัทที่เข้าข่ายต้องปรับตัวอาจจะมีอยู่ไม่มากนัก
โดยทางตลาดหลักทรัพย์ประเมินในเบื้องต้นว่าจะมีบริษัทจดทะเบียนไม่เกิน
15
รายได้รับผลกระทบจากการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับนี้
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในหุ้นกลุ่มสื่อสาร
ถึงแม้ว่าการแก้ไข
พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายเดิมไม่มากนัก
แต่ในระยะยาวอาจกระทบต่อภาพรวมการลงทุนในมุมมองของผู้ลงทุนต่างชาติและบรรยากาศในการลงทุน
และทำให้ต่างชาติลดความเชื่อมั่นที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
ตลอดจน
สร้างแรงกดดันให้นักลงทุนรายเดิมที่เข้าข่ายต้องปรับโครงสร้างใหม่ให้ต้องมีการลดสัดส่วนหุ้นที่ถือให้กับคนไทย
ย้อนกลับ:::
|