ทิศทางเศรษฐกิจไทยภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โดย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล |
| |
จีน : ศูนย์กลาง(ใหม่)เศรษฐกิจโลก ความเติบโตที่มี"ราคา"ต้องจ่าย |
|
เมื่อ
11
ธันวาคมปีที่แล้ว (2549)
เป็นวันที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)
ครบ 5 ปี
ทุกสายตาทั่วโลกจับจ้องมองไปยังประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและยังเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกอีกด้วย
การเข้าเป็นสมาชิก WTO ครบ 5
ปี
ยังทำให้จีนขยับอันดับจากประเทศที่มีขนาดการค้าใหญ่เป็นอันดับ
6 มาอยู่อันดับ 3
ของโลก ซึ่งเป็นเพราะการเข้าเป็นสมาชิก WTO
ทำให้จีนต้องเปิดตลาดของตนแก่ประเทศอื่นมากขึ้น
ขณะที่จีนก็สามารถขยายตลาดไปยังประเทศอื่นได้มากเช่นกัน
ชาร์ลีน บาร์เชฟสกี้
อดีตผู้แทนการค้าของสหรัฐ กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้จีนได้กลายเป็น
"ศูนย์กลางสำคัญ" ของเศรษฐกิจโลกไปแล้ว
หัวใจสำคัญของความเป็นมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจโลกของจีนก็คือ
"สินค้าราคาถูก" อันเนื่องมาจากค่าแรงถูก
(เพราะมีประชากรล้นเหลือ) ขณะที่ประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกา
กล่าวหาว่าจีนจงใจทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนกว่าปกติราว 40%
เพื่อทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขันในการส่งออกสินค้า
พูดง่ายๆ ก็คือดั๊มพ์ราคานั่นเอง
ในปีที่แล้วเศรษฐกิจจีนเติบโต
10.4% มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1
ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดในโลก
การเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของจีน
ถูกประเทศตะวันตกมองว่าเป็นภัยคุกคาม
ถูกหวาดระแวงจากสหรัฐอเมริกาเป็นพิเศษ
เป็นการหวาดระแวงทั้งในแง่การเมืองระหว่างประเทศ
ที่เกรงว่าจีนจะขึ้นมาคานอำนาจในเอเชียแล้ว
ในแง่เศรษฐกิจก็นับว่าสหรัฐสะบักสะบอมมากที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย
เพราะขณะนี้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไปแล้วถึง 9
แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
เป็นการขาดดุลสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐเช่นกัน
ซึ่งเป็นเพราะรัฐบาลบุชใช้จ่ายงบประมาณเกินตัว
โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการทำสงครามนอกประเทศและค่าใช้จ่ายด้านการทหารและความมั่นคง
แต่ขณะเดียวกันก็หาเงินไม่เก่ง วันๆ เอาแต่กู้ยืมจากประเทศอื่น
แต่สหรัฐกลับมองว่า "จีน"
คือปัญหาสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ
โดยกล่าวหาว่าจีนจงใจลดค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริง
โดยเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุดเป็นมูลค่า
2.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าราคาถูกจากจีน
โดยเฉพาะรองเท้า อุปกรณ์กีฬา เหล็ก เสื้อผ้า ตีตลาดสหรัฐกระจุย
ซึ่งแน่นอนย่อมเป็นที่พอใจของผู้บริโภคอเมริกัน
แต่ผู้ที่เดือดร้อนก็คือผู้ประกอบการหรือผู้ประกอบธุรกิจ
ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นพวกที่อยู่ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาล
และวิ่งเต้นอย่างหนักเพื่อให้รัฐบาลสหรัฐกดดันจีน
โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องค่าเงินหยวน
การขอให้เปิดตลาดแก่สินค้าสหรัฐมากขึ้น
และปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
เป็นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐไล่ทุบไล่ถองจีนอยู่ตลอดเวลา
เพื่อกดดันจีนให้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว
ล่าสุดในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
รัฐบาลสหรัฐออกมาขู่ว่าหากจีนไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง
ก็อาจจะนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อ WTO
โดยข้อหาที่จะฟ้องก็คือหาว่าจีนไม่ปฏิบัติตามกฎของ WTO
เป็นการขู่ก่อนที่นายเฮนรี่ พอลสัน
รัฐมนตรีคลังสหรัฐจะนำทีมไปเจรจากับจีนเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม
ซึ่งดูเหมือนเป็นการเยือนที่ได้ผล เพราะในช่วงปลายเดือนธันวาคม
ธนาคารกลางของจีนได้ออกมาระบุว่าในปีนี้ (2550)
ค่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น 3-4%
ส่วนเศรษฐกิจคาดว่าจะเติบโต 9.5%
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตัวเลข
9.5%
เป็นตัวเลขที่ทางจีนกดไว้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริงมากกว่าเพราะเกรงจะถูกมองว่า
"ร้อนแรง" เกินไป
จนนำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกซึ่งจะกระทบไปทั้งโลก
โดยประมาณการเดิมก่อนหน้านั้น
นักวิเคราะห์และหลายฝ่ายมองว่าอัตราการเติบโตในปีนี้ของจีนจะยังคงเป็นเลขสองหลักอยู่เช่นเดิม
นักวิเคราะห์และนักสังเกตการณ์จากซีกตะวันตกมองว่า
การที่จีนผลิตสินค้าราคาถูกส่งออกสู่ตลาดโลกนั้น มันไม่ได้เป็น
"ภัยคุกคาม"
ต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาและยุโรปแต่เพียงด้านเดียว
แต่หากนำมาซึ่ง "ประโยชน์และโอกาส"
แก่อุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาและยุโรปด้วย
เพราะการที่บริษัทผู้ผลิตสินค้านำเข้าสินค้าประเภทชิ้นส่วนและวัตถุดิบราคาถูกจากจีนมาผลิตสินค้านั้น
ช่วยให้อุตสาหกรรมของยุโรปและสหรัฐอเมริกาแข่งขันได้มากขึ้นด้วย
นักสังเกตการณ์มองอีกว่า
หลายคนอาจคิดว่าการเข้าเป็นสมาชิก WTO
จะทำให้จีนมีแต่ได้กับได้
แต่นั่นเป็นการประเมินที่ต่ำไปในแง่ความสูญเสียและ "ราคา"
ที่จีนต้องจ่ายแลกกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์กรโลกบาลแห่งนี้
"ราคา"
ที่จีนต้องจ่ายอันเนื่องจากเข้าเป็นสมาชิก WTO
ก็คือ ต้องลดภาษีนำเข้าเนื้อวัวลงจาก 50%
เหลือ 12%
ลดภาษีข้าวบาร์เลย์จาก 114% เหลือ
3% ภาษีสินค้ารถยนต์ลดจาก 100%
เหลือ 25% เป็นต้น
ทูตจีนประจำองค์การการค้าโลก
ยืนยันว่าหลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO
แล้ว จีนต้องลดภาษีในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมลงจากระดับเฉลี่ย
14.9% เหลือ 9.1%
ในปีที่ผ่านมา ส่วนสินค้าเกษตรลดภาษีจาก 23.2%
เหลือ 15.4%
หันมามองดูภายในจีนเอง
อย่างที่หลายฝ่ายกล่าวขานกันมาว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไม่ได้กระจายผลประโยชน์ไปยังประชาชนทุกส่วนอย่างเท่าเทียม
โดยเฉพาะประชาชนในชนบท เช่นเดียวกับที่ผลจากการเข้าเป็นสมาชิก
WTO
ก็ทำให้เกิดการกระจายประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียม
และยังไปกระทบวิถีชีวิตของพวกเขาด้วย
ชาวนาพ่อลูกสองที่ฐานะค่อนข้างดีอย่าง ฉุ่ย ซอง เด
แห่งจังหวัดชางดอง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของจีน
ซึ่งมีพื้นที่เกษตรค่อนข้างมากคือ 10 mu (ประมาณ
6,600 ตารางเมตร)
ดูเหมือนจะปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจโลกและยอมรับนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงประเทศสู่ความทันสมัย
แม้นายฉุ่ยจะไม่รู้ว่าการที่เขาต้องปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกดั้งเดิมคือพืชจำพวกเมล็ด
(ข้าว ข้าวสาลี) มาเป็นการปลูกผลไม้จำพวกองุ่น
เป็นเพราะสินค้าจากนอกประเทศเข้ามาตีตลาดอันเนื่องจากจีนต้องลดภาษีพืชผลตามกฎของ
WTO
แต่ก็ดูเหมือนว่าเขายอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้
โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกข้าวซึ่งราคาตกมากไว้กินต่อไป
อีกส่วนหนึ่งปลูกองุ่นไว้ขายเพราะได้ราคาดีกว่าหลายเท่า
แต่สำหรับชาวนาจนๆ มีพื้นที่เพียง
3 mu (ประมาณ 3,300
ตารางเมตร) อย่างบิน หวนเจี้ยน
ชาวนาที่ทำงานหนักหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินมาตลอดชีวิต
กลับเห็นว่าการเข้าเป็นสมาชิก WTO
เป็นเรื่องที่เขาสุดจะทนรับได้อีกต่อไป
และเขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจนี้เลย
"ช่วง
3 ปีที่ผ่านมา ชนบทเปลี่ยนไปมาก
ชาวนาต่างหันไปปลูกผักและผลไม้แทนข้าวเพราะได้ราคาดีกว่า" บินระบุ
ในช่วง 3
ปีที่ผ่านมา
ชาวนาจีนได้รับผลกระทบหนักจากการที่ปริมาณสินค้าเกษตรจำนวนมหาศาลจากสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ
ทะลักเข้าสู่จีน สินค้าเหล่านี้
โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาเป็นสินค้าที่ได้รับการอุดหนุนราคาจากรัฐบาลสูง
ทำให้เมื่อส่งเข้ามาขายในจีนจึงมีราคาถูก
โดยราคาข้าวสาลีจากต่างประเทศมีราคาถูกลง 10%
ถั่วเหลืองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และอาร์เจนตินา
มีราคาถูกกว่าสินค้าท้องถิ่น 5-10%
ภาวะราคาสินค้าตกต่ำ
(อย่างที่เกิดกับราคาหอม กระเทียมในบ้านเรา)
ทำให้รัฐบาลจีนต้องเข้าไปรับซื้อพืชผลจากเกษตรกรจีนถึง 45
ล้านตัน ในช่วง 9
เดือนของปีที่แล้ว
นักเศรษฐศาสตร์ของจีนได้เสนอแนะรัฐบาลว่าจำเป็นต้องตระหนักว่าจีนมีประชากรมากที่สุดในโลก
แต่มีที่ดินเพียง 1 ส่วน 14
ของโลก (จีนมีพื้นที่ใหญ่อันดับสามรองจากรัสเซียและแคนาดา)
ดังนั้น
การกำหนดนโยบายด้านการเกษตรที่เน้นการใช้แรงงานนำหน้ามากกว่าจะเน้นการใช้พื้นที่มาก
ซึ่งการเกษตรที่เหมาะกับการใช้แรงงานจำนวนมากก็คือการปลูกผัก ผลไม้
นักวิเคราะห์ประเมินว่า
จากการที่การส่งออกของจีนเติบโตอย่างมากจากจุดแข็งเรื่องสินค้าราคาถูกเพราะแรงงานมีราคาถูกจนตีตลาดไปทั่วโลกในขณะนี้
เชื่อว่าในอีกไม่เกิน 4-5 ปีข้างหน้า
จีนจะเผชิญกับการถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศต่างๆ
เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ตามกฎขององค์การการค้าโลก
การกีดกันการค้าไม่สามารถทำได้
แต่บรรดาประเทศตะวันตกทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ต่างมีวิธีการที่จะสร้างกลไกใหม่ๆ ขึ้นมากีดกันการค้า
ซึ่งเรียกว่าเป็นการกีดกันในเชิง "เทคนิค"
โดยวิธีการที่นิยมก็คือการตั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัย
ด้านสุขอนามัย
เอาไว้สูงมากเกินกว่าประเทศเจ้าของสินค้าจะปฏิบัติตามได้
หรือหากจะปฏิบัติตามให้ได้มาตรฐานก็ต้องลงทุนเพิ่มอีกมาก
ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ปัญหายอดนิยมอีกอย่างหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากีดกันสินค้าจากจีน
ก็คือการกล่าวหาเรื่องการใช้แรงงานโดยละเมิดกติกาสากล เช่น
การอ้างเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐาน
เมื่อเร็วๆ นี้
บริษัทผลิตรองเท้าของจีน 1,200 แห่ง ที่ถูกสหภาพยุโรป
(อียู) เก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด
โดยอ้างข้อหาว่าขายสินค้าราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ได้พากันถอดใจในการใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อสู้กับอียู
เพราะเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายสูง
สิ่งที่บริษัทเหล่านี้ทำได้ก็คือพากันไปหาตลาดส่งออกอื่นแทน
มีเพียง 4
บริษัทเท่านั้นที่จะขอต่อสู้เพราะเห็นว่าสิ่งที่อียูทำไม่ยุติธรรม
และยังไม่เป็นไปตามกฎขององค์การการค้าโลก
และยังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาของอียูด้วย
เพราะอียูเรียกเก็บภาษีดังกล่าวโดยไม่เปิดโอกาสให้บริษัทที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงเลย
เชื่อว่าจีนจะยังเผชิญกับการถูกกีดกันทางการค้าต่อไป พร้อมๆ
กับการถูกจับตาในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของโลก
ซึ่งย่อมสร้างความไม่สบายใจให้กับโลกตะวันตกที่มองมาอย่างหวาดระแวง
แต่การกำลังก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ (ใหม่)
ของโลกและของเอเชีย จีนก็ต้องแลกด้วยความสูญเสียหลายอย่าง
โดยเฉพาะผลกระทบต่อคนในชนบทที่ส่วนหนึ่งต้องทิ้งนาไร่
มาหางานทำในเมือง
ที่สำคัญความเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมากนั้นพิสูจน์ชัดว่าไม่ได้กระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ย้อนกลับ::: |
|
|
|
ที่มา
:นสพ
มติชน
3
มกราคม พ.ศ. 2550
ปีที่ 29 ฉบับที่ 1052
|
|