โพสต์ทูเดย์ — บีโอไอ เผย 10
เดือนที่ผ่านมา
นักลงทุนจากจีนเทเงินลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นกว่า
800%
นายธำรง มหัจฉริยวงศ์
รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2549-ก.ค.
2550 หรือในช่วง 10 เดือน ตามปีงบประมาณ
มีนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทย 29 โครงการ
มูลค่า 15,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 885%
เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีทั้งสิ้น 17
โครงการ มูลค่าลงทุน 1,545 ล้านบาท
ซึ่งอุตสาหกรรมที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ได้แก่ พลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์
ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรการเกษตร
“สาเหตุที่นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
เนื่องจากรัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ
ซึ่งปี 2548 ที่ผ่านมา
จีนเข้าไปลงทุนต่างประเทศทั้งสิ้น 1.23
หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2547
จีนเข้าไปลงทุนต่างประเทศมูลค่า 5.5
พันล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้การลงทุนของจีนในต่างประเทศนั้น
50%
เป็นการเข้าไปควบรวมกิจการเพื่อให้ผลทางธุรกิจเร็วขึ้น”
นายธำรง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา
มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศรวมทั้งสิ้นมูลค่ารวม
2.807 แสนล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันจากปีที่แล้ว
18.2%
และคาดว่าทั้งปีจะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
3 แสนล้านบาท
หลังจากที่รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งชัดเจนทำให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นประเทศไทยมากขึ้น
นอกจากนี้
ในช่วงปลายปีจะมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานสากล
(อีโคคาร์) เพิ่มเติม จากขณะนี้มีค่ายรถ 1
ราย ยื่นขอรับการส่งเสริมแล้ว
ทั้งนี้ ในปี 2550 บีโอไอ
มีแผนที่จะไปชักจูงการลงทุนในต่างประเทศประมาณ
70 ครั้ง ในประเทศเป้าหมาย เช่น จีน
เกาหลี สหรัฐ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
และยุโรป โดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา
โรดโชว์ไปแล้ว 60 ครั้ง อย่างไรก็ตาม
ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา
มีประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ซึ่งในอดีตไม่เคยเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย
ก็เข้ามาขอรับการส่งเสริมในปีนี้เป็นครั้งแรก
โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของนิวซีแลนด์ก็เข้ามาส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย
นายธำรง กล่าวว่า
แผนการชักจูงนักลงทุนในปีหน้า
บีโอไอยังคงมุ่งเน้นการไปโรดโชว์ในต่างประเทศ
เนื่องจากแต่ละประเทศมีแผนชักจูงนักลงทุนต่างประเทศที่แข่งขันกันรุนแรงและโดดเด่น
ดังนั้น
ไทยต้องนำจุดเด่นไปเผยแพร่และอาจปรับกลยุทธ์เพื่อให้เป็นที่สนใจของต่างประเทศ
ขณะนี้ บีโอไอ
กำลังอยู่ระหว่างการจัดหมวดหมู่ประเภทของการส่งเสริมการลงทุนใหม่
จากเดิมมีทั้งหมด 7 หมวด 160 กิจการ
ซึ่งจะนำรื้อใหม่
และจัดประเภทใหม่หมดตามความเหมาะสม
และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการแข่งขัน
โดยจะเน้นส่งเสริมการลงทุนในลักษณะของกลุ่มอุตสาหกรรม
(คลัสเตอร์) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี
2551 หลังจากนั้นหากคณะกรรมการบีโอไอ (บอร์ดบีโอไอ)
เห็นชอบก็จะประกาศใช้ทันที