กรมการค้าต่างประเทศ
เตือนผู้ส่งออกรับมือมาตรการทางการค้าตลอดปี 2550
เริ่มจากจีนออกระเบียบ China RoHs +
ระเบียบบรรจุภัณฑ์ไม้ เพื่อปกป้องตลาดภายในประเทศ
ด้านนักวิชาการ "สมภพ มานะรังสรรค์" ชี้ จีนเข้า WTO
ครบ 5 ปีพอดี
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการการค้ารับมือสินค้านำเข้าที่จะทะลักเข้าประเทศ
ตามพันธกรณีที่จะต้องลดภาษีเพิ่มขึ้น แนะเร่งเจรจา FTA
อาเซียน-จีน ภาคบริการ/ลงทุน
เพื่อลดปัญหาขาดดุลทางการค้ากับจีน
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองอธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ (คต.)
กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า
กระทรวงสารสนเทศอุตสาหกรรมจีน (Ministry of
Information Industry)ได้ออกประกาศ ระเบียบ China RoHs
ควบคุมการใช้สารอันตราย 6
รายการในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า/ อิเล็กทรอนิกส์
ที่วางจำหน่ายในประเทศจีน
เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสุขอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
โดยระเบียบฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม
2550 เป็นต้นไป
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไปจำหน่ายในประเทศจีนมากขึ้น
"การใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่างๆ
มีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้นในปี 2550 เนื่องจากการเจรจา
WTO ได้หยุดชะงักลงเมื่อปลายปี 2549
และยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้หลายประเทศหันมาเจรจา FTA
มีการลดภาษีสินค้าระหว่างกันหลายรายการ
เป็นเหตุให้มีสินค้าทะลักเข้าไปเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นบางประเทศจึงได้กำหนดมาตรการทางการค้าขึ้นมาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายใน"
นางนันทวัลย์กล่าว
สำหรับประเทศจีนได้เตรียมใช้มาตรการ China RoHs
ซึ่งนำเอาระเบียบ RoHs ของสหภาพยุโรปมาปรับใช้
และก่อนหน้านี้ก็มีการประกาศใช้
ระเบียบวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้
ออกมามีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549
ไปแล้ว ส่วนสหภาพยุโรปมีการออกมาตรการทางการค้าต่างๆ
อาทิ
การเตรียมปรับใช้ มาตรฐานสุขอนามัยสัตว์น้ำ
เพื่อขยายขอบเขตการตรวจสอบไปถึงแหล่งผลิตโดยมีผลบังคับใช้
1 มกราคม 2550, ระเบียบการติดฉลากสินค้าอาหาร (labelling)
เพื่อรวบรวมให้เป็นฉบับเดียวกันคาดว่า
จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2550,
ร่างระเบียบควบคุมเคมีภัณฑ์ของสหภาพยุโรป (REACH)
กำหนดให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้าจะต้องจดทะเบียนสารเคมีและได้รับอนุญาตก่อนจำหน่ายคาดว่า
จะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2550
ประเทศญี่ปุ่น เตรียมใช้ระเบียบวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้
ในวันที่ 1 เมษายน 2550 เป็นต้น
นางนันทวัลย์กล่าวต่อไปว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาข้อกีดกันทางการค้า"
ขึ้น
เพื่อให้ผู้ส่งออกที่ประสบปัญหาถูกกีดกันจากประเทศคู่ค้า
สามารถยื่นคำร้องที่สำนักมาตรการทางการค้า สายด่วน
1385 เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
และยกเรื่องขึ้นหารือกับหน่วยงานผู้ใช้มาตรการของประเทศนั้น
เพื่อให้พิจารณาปรับแก้ไขหรือยกเลิกการใช้ข้อกีดกันทางการค้านั้น
รวมถึงการหามาตรการตอบโต้หากหน่วยงานผู้ใช้ไม่ปรับ/ยกเลิกมาตรการดังกล่าว
ด้านนายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า
สาเหตุที่จีนทยอยกำหนดมาตรการทางการค้าออกมาเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)
ครบ 5 ปี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2549
ทำให้ต้องลดภาษีตามข้อผูกพันกับ WTO
ดังนั้นจีนจึงมีการกำหนดมาตรการทางการค้าออกให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
เพื่อปกป้องสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าไปสร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายใน
ซึ่งในปี 2550 นี้คาดว่าจะมีมาตรการต่างๆ
ทยอยออกมาอีกจำนวนมาก
ดังนั้นผู้ส่งออกจะต้องติดตามระเบียบการค้าของจีนอย่างใกล้ชิด
ในส่วนของทางภาครัฐบาลเองโดยเฉพาะ กระทรวงพาณิชย์
หลังจากได้มีการกำหนด ยุทธศาสตร์การค้าภูมิภาคจีน (ฮับจีน)
แล้วก็ควรเร่งเจาะลึกข้อมูลและเครือข่ายการค้าทั้งในส่วนค้าปลีก/ส่งในจีนให้มากขึ้นเพราะ
จีนเป็นตลาดที่ใหญ่มากอยู่แล้ว
หากมียุทธศาสตร์แต่เข้าไม่ถึงเครือข่ายการค้าก็ไม่เกิดประโยชน์กับการส่งออกไทย
สำหรับการเจรจาจัดทำข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA)
ระหว่างอาเซียน-จีนเห็นว่า
รัฐบาลจะต้องเร่งเจรจาเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนให้เร็วขึ้น
เพื่อใช้ประโยชน์จากภาคบริการ-ลงทุนและลดปัญหาการขาดดุลการค้า
"ขณะนี้ FTA อาเซียน-จีนเป็นเพียงกรอบการค้า (Trade)
ซึ่งประเทศในอาเซียนเสียเปรียบจีนในด้านต้นทุนการผลิตสินค้า
ทำให้เกิดปัญหาการขาดดุลการค้ามาตลอด
มีการใช้ประโยชน์จากการลดภาษีเพียง 3
กลุ่มสินค้าเท่านั้นคือ คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ
สินค้าเกษตร
เช่น ผลไม้ มันสำปะหลัง ยางพารา ลำไย และอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น
ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก แต่หากเปิดเสรีภาคบริการ-ลงทุน
จะช่วยให้อาเซียนพลิกกลับมาใช้ประโยชน์จากกรอบการเปิดเสรีได้มากขึ้น
เพราะขณะนี้ไทยมีการพัฒนาเป็นประเทศ Service Base
Economy ควบคู่ไปกับการผลิต" นายสมภพกล่าว
นอกจากนี้ ไทยต้องเตรียมรับมือกับการลดภาษีในกรอบ FTA อาเซียน-จีน
ซึ่งกำลังจะครบ 5 ปี ในปี 2553 (ค.ศ.2010)
จะมีผลให้สินค้าร้อยละ 93
ของรายการสินค้าที่ค้าขายทั้งหมดมีภาษีเหลือ 0-5%
สิ่งที่ต้องระวังก็คือ จะมีการนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภค สิ่งทอ
และเครื่องนุ่งห่ม จากประเทศจีนเข้ามามากขึ้น
ดังนั้นไทยต้องเร่งปรับมาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักสากลเพื่อปกป้องผู้บริโภคไทยด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ สถิติการค้าระหว่างไทย-จีน ทุกรายการ ในช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน)
2549 ขยายตัวร้อยละ 18.99 มีมูลค่า 434,436.89 ล้านบาท
ไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 205,034.29 ล้านบาท และนำเข้า
229,402.61 ล้านบาท ขาดดุลการค้าจีน มูลค่า 24,368.32
ล้านบาท
แต่เมื่อพิจารณาสถิติการค้าสินค้าเกษตรพิกัด 01-08
ในช่วงเดียวกันขยายตัวร้อยละ 24.17 มีมูลค่า 28,017.99
ล้านบาท โดยไทยส่งออก 20,291.51 ล้านบาท นำเข้าจากจีน
7,726.48 ล้านบาท เป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจีนมูลค่า
12,565.03 ล้านบาท
หน้า 5