ที่มา นสพ.
ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 มกราคม
พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3861 (3061)
TDRI
เสนอให้รัฐกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าให้ชัดเจนใน
2 ระดับคือ แก้ รธน. กับยกร่าง พ.ร.บ.การเจรจาการค้า
เลียนแบบ TPA สหรัฐ
พร้อมยกร่างกฎหมายที่เสนอโดยนักวิชาการ/NGO
ผ่าน สนช.แทน ขณะที่กรมเจรจา
การค้าระหว่างประเทศ ยังแบ่งรับแบ่งสู้ ขอรอ
ฟังความชัดเจนของร่างกฎหมายก่อนว่า จะซ้ำ
กับแนวคิดตั้ง USTR แบบไทยๆ หรือไม่
ชี้จะเป็นการเปลี่ยนอำนาจการเจรจาจากฝ่ายบริหารมาสู่ฝ่ายนิติบัญญัติ
แต่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับ ประเทศชาติ
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ"
รายงานการเผยแพร่ผลงานวิจัย "FTA ภาคประชาชน"
ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ในต้นสัปดาห์นี้ว่า นายสมเกียรติ
ตั้งกิจวานิชย์
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ
มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ได้กล่าวในระหว่างงานเผยแพร่ผลวิจัยว่า
รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
เพื่อให้เป็นกรอบกติกาที่ชัดเจน ใน 2 ระดับคือ
1)ระดับรัฐธรรมนูญ
ควรมีการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดความชัดเจน
โดยเฉพาะในมาตรา 224
ซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียงกัน 2 ฝ่ายคือ
ฝ่ายราชการเห็นว่า การจัดทำข้อตกลง FTA
ไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา
ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า การทำข้อตกลง FTA
มีความจำเป็นต้องผ่านสภาเพราะมีการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจรัฐ
ดังนั้นควรแก้ไขให้ชัดเจนว่าควรทำอย่างไร
2)ควรยกร่าง พ.ร.บ.การเจรจาการค้าระหว่างประเทศไทย
ให้เป็นกฎหมายเฉพาะในการดูแลการเจรจา
เพื่อกำหนดกรอบขั้นตอน
และวัตถุประสงค์ในการจัดทำข้อตกลงการค้าแต่ละฉบับ
โดยอาศัยต้นแบบจากกฎหมายให้สิทธิการเจรจาของสหรัฐ
(TPA 2002) กล่าวคือ มีการแบ่งอำนาจชัดเจนว่า
ประธานาธิบดี (ฝ่ายบริหาร)
สามารถดำเนินนโยบายด้านการเจรจาใดได้บ้าง
และประเด็นที่อ่อนไหวแบบใดที่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
"สาเหตุที่ต้องมีการกำหนดกติกาเพราะในอนาคตมีแนวโน้มไทยมีความจำเป็นต้องเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี
(FTA) อย่างเลี่ยงไม่ได้
และที่ผ่านมาการคัดค้านหรือแสดงความเห็นของกลุ่มต่างๆ
เริ่มจะมีเพิ่มขึ้นอย่างหลากหลาย
แต่ในบางประเด็นการเคลื่อนไหวก็เป็นการต่อต้านระบบโลกาภิวัตน์
โดยไม่พิจารณาถึงรายละเอียดการเจรจาทั้งหมด
แต่เป็นการคัดค้านเพื่ออุดมการณ์เท่านั้น
ฉะนั้น
ภาคประชาชนก็ควรเข้าร่วมมาแสดงความเห็นอย่างเป็นระบบ
วิจารณ์และให้ความเห็นและข้อมูลอย่างถูกต้อง"
นายสมเกียรติกล่าว
สำหรับแนวทางในการยกร่าง พ.ร.บ.การเจรจาการค้าฯนั้น
ในภาควิชาการ ตนจะขอความร่วมมือจาก ดร.จันทจิรา
เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัย "เรื่องกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหารในการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี"
ร่วมกับภาคประชาชน
โดยจะยกร่าง พ.ร.บ.
และเสนอฝ่ายช่องทางนิติบัญญัติ
โดยขอความร่วมมือจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน
25 คน เพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ให้ทันรัฐบาลชุดนี้เพราะหากรอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ
กระทรวงพาณิชย์
เป็นผู้ยกร่างอาจจะต้องใช้เวลานาน
นายสมเกียรติกล่าวว่า
ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการยกร่างกฎหมายคือ
ระบอบการปกครอง
ของไทยและสหรัฐมีความแตกต่างกัน
โดยสหรัฐเป็นระบบประธานาธิบดี
มีการแบ่งแยกอำนาจเพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ
แต่ไทยเป็นระบบรัฐสภา
ในส่วนของรัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกับฝ่ายบริหาร
จึงอาจจะเกิดปัญหาความไม่เห็นด้วย
แต่จะต้องยึดหลักเป้าหมายสำคัญคือ
การยกร่างกฎหมายจะเป็นการเพิ่มความโปร่งใสให้กับกระบวนการเจรจา
แต่จะไม่ใช่การขัดขวางการเจรจา
ด้านนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง
รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า
แนวคิดในการยกร่าง พ.ร.บ.
การเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น
ในทางรัฐศาสตร์จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจการเจรจาจากเดิมที่ฝ่ายบริหารเปลี่ยนเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบการเจรจา
ส่วนตัวเชื่อว่าหากมีการยกร่างกฎหมายดังกล่าว
จะเป็นประโยชน์ต่อการเจรจาการค้าเพื่อจัดทำข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีต่างๆ
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกรอบของกฎหมายว่าจะมีขอบเขตอย่างไร
อย่างไรตามทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะติดตามรายละเอียดของเรื่องนี้ต่อไปในฐานะหน่วยงานปฏิบัติก็พร้อมที่จะปฎิบัติ
"กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะติดตามรายละเอียดของเรื่องนี้ก่อน
เพราะยังไม่ได้รับทราบแนวคิดที่ชัดเจน
เดิมเคยมีแนวคิดจะจัดตั้ง
หน่วยงานที่รับผิดชอบในการเจรจาจัดทำข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี
คล้ายกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทางการค้าของสหรัฐ
หรือ USTR แต่ก็ไม่มีการดำเนินการต่อ
แต่หากมีการกำหนดกฎหมาย พ.ร.บ.การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพราะระบบการปกครองของไทยไม่เหมือนสหรัฐ
การปกครองแบบรัฐสภานั้น
ทางฝ่ายนิติบัญญัติสามารถอภิปรายการดำเนินงานและลงมติไม่ไว้วางใจในการดำเนินงานของฝ่ายบริหารได้
เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาที่หลายฝ่ายเห็นไม่สอดคล้องกันได้"
นายวินิจฉัยกล่าว
หน้า 5
|