ที่มา
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 11 มกราคม
พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3861 (3061)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ได้จัดการแถลงข่าวเรื่อง "ทิศทาง FTA
ภาคประชาชน ปี 2550 เป็นอย่างไร" เมื่อเร็วๆ
นี้ โดยมี นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ
มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
เข้าร่วมแสดงทรรศนะวิเคราะห์ทิศทางการเจรจาการค้าระหว่างประเทศปี
2550 โดยชี้ให้เห็นว่า
การเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค (RTAs)
จะพลิกกลับมามีบทบาทมากขึ้น หรือเรียกว่า "ภูมิภาคนิยม"
แซงหน้า การเจรจาจัดทำข้อตกลงระดับทวิภาคี
อย่าง FTA ขณะที่การเจรจาระดับพหุภาคี
องค์การการค้าโลก (WTO)
รอบโดฮาจะหยุดชะงักลงเช่นเดียวกัน
โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้การเจรจาการค้าโลกของ
WTO ลดบทบาทลงเกิดจาก 1)การเมืองภายในประเทศสหรัฐ
ซึ่งเป็นขั้วอำนาจสำคัญในการเจรจา WTO
ภายหลังจากการเลือกตั้งภายในสหรัฐเมื่อปี 2549
พรรคเดโมแครต
ได้เสียงข้างมากและจะมีการประชุมรัฐสภาในอีก
1-2 เดือนนี้ โดยจะมีการพิจารณาต่ออายุ
กฎหมายให้สิทธิฝ่ายบริหารในการเจรจา (TPA)
ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในกลางปีนี้
ซึ่งหลายฝ่ายประเมินว่าอาจจะมีการต่ออายุ TPA
แต่จะให้อำนาจเฉพาะในการเจรจา WTO
และอาจจะต่อให้เพียง 2 ปี
เพื่อรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากพรรคเดโมแครต
เข้ามาเป็นฝ่ายบริหารก่อน จึงจะมีการเจรจา WTO
ต่อไป
ในประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่า
รัฐบาลสหรัฐในปัจจุบันจะมีบทบาทในการเจรจา FTA
ลดลง ซึ่งจะทำให้การเจรจา FTA
ที่คั่งค้างอยู่อย่างเช่น FTA ไทย-สหรัฐ
มีโอกาสลากยาวออกไปถึง 2 ปี ขณะที่การเจรจา
WTO รอบโดฮา
ก็มีโอกาสสูงที่จะต้องขยายเวลาออกไปตามไปด้วย
เพราะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
ซึ่งเป็นขั้วอำนาจที่สำคัญในการเจรจาอีกด้านหนึ่ง
ได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับการเจรจาระดับภูมิภาคหรือ
RTA ยกตัวอย่างเช่น ความพยายามที่จะเริ่มเจรจา
FTA ระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป
2)ในส่วนของประเทศไทยเอง
ก็มีแนวโน้มที่จะลดการเจรจาจัดทำ FTA เช่นกัน
จากการพิจารณาปัจจัยด้านการเมือง
โดยรัฐบาลชั่วคราวชุดนี้มี
นโยบายชัดเจนที่จะไม่ริเริ่มการเจรจา FTA
คู่ใหม่ๆ
แต่จะไม่ปฏิเสธการเจรจาระดับภูมิภาคเดิมที่ดำเนินการอยู่แล้ว
และการเจรจาใน WTO เพราะขณะนี้ไทยเริ่มเจรจา
FTA ไปหลายฉบับแล้ว
ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาทางเทคนิคในการใช้ประโยชน์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง
กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า
ที่จะมีความแตกต่างกันในแต่ละฉบับ
จนทำให้เกิดปัญหาในการเคลื่อนย้าย
สินค้าในการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์จากการลดภาษีได้ไม่เต็มที่
3)การเจรจาในระดับภูมิภาค
จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรอง
เพราะจะทำให้เกิดการรวมกลุ่มทางการค้าขนาดใหญ่มากขึ้น
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องระมัดระวังก็คือ
ในกลุ่มอาเซียนเองยังมีปัญหาการขัดแย้งภายใน
ซึ่งหากจะเจรจา FTA ระดับภูมิภาค
ก็ควรจะรักษาความเป็นเอกภาพภายในอาเซียนให้ได้เสียก่อน
นายสมเกียรติกล่าวว่า
โจทย์ใหม่ที่จะต้องแก้ก็คือ
อาเซียนควรเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค
หรือ RTAs กับใคร ?
เพราะขณะนี้มีหลายฉบับที่ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้ว
เช่น จีน เกาหลี หรือกำลังเจรจา เช่น
ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์-ญี่ปุ่น-อินเดีย
และที่กำลังจะเริ่มเจรจาคือ สหภาพยุโรป
เป็นต้น
เท่าที่มีอยู่เป็นการเจรจา RTA
แบบกระจายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ประเทศญี่ปุ่น
จึงมีข้อเสนอให้รวบรวมการเจรจาที่มีอยู่ให้เป็นฉบับใหญ่ฉบับเดียว
หรือรวมกันเฉพาะเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์
ยกเว้น สหรัฐ หรือ "หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในเอเชียตะวันออก"
หรือ Comprehensive Economic Partnership in
East Asia (CEPEA)
ทำให้สหรัฐต้องออกมาคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว
โดยหันมาเสนอให้เปลี่ยนบทบาทจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเอเปก
(APEC) ให้เป็นการเจรจาการค้าเสรีในกรอบ APEC
แทน
สำหรับประเด็นนี้จะต้องวิเคราะห์อย่างรอบคอบถึงผลดี-ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
ผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆ
ตลอดจนผลสะท้อนกลับจากการเจรจาข้อตกลงที่เคยทำแล้วว่า
"เราเก็บเกี่ยวได้มากน้อยเพียงใด"
ดังนั้นไทยควรมียุทธศาสตร์การเจรจาการค้า
ที่ชัดเจน เป็นแนวรุก
และเพิ่มการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
รวมถึงกำหนดกรอบกติกาในการเจรจาที่ชัดเจน ใน 2
ระดับ คือ การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ
และการยกร่าง พ.ร.บ.
การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
หน้า 5
|