1. หลักการและเหตุผล
การประชุมสัมมนาเชิงวิชาการสำหรับการบริหารธุรกิจเป็นการประชุมสัมมนาประจำปี ที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักวิชาการ
ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่มีความสนใจในการศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางด้านการบริหารธุรกิจ ทั้งนี้บัณฑิตวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัย
ที่มีชื่อเสียงรวม 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เล็งเห็นถึง
โอกาสในการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ทางด้านการบริหารธุรกิจ โดยจัดให้มีการประชุมครั้งนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก
ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเครือข่ายงานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลด้านงานบริหารธุรกิจและสร้างองค์ความรู้ มีความร่วมมือในการจัดทำโครงการวิจัยในงานบริหารธุรกิจ มีการแลกเปลี่ยนคณาจารย์และนิสิตนักศึกษาระดับมหาบัณฑิตระหว่างสถาบันที่เป็นสมาชิก และมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดการพัฒนางานทางด้านการบริหารธุรกิจอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาการและทิศทางด้านเศรษฐกิจ
โดยรวมของประเทศในด้านธุรกิจ
2. วัตถุประสงค์และขอบเขตการประชุมวิชาการ
- เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักวิจัยในสาขาการบริหารธุรกิจและสาขาที่เกี่ยวข้องมาประชุมแลกเปลี่ยนความรู้
ประสบการณ์และผลงานวิจัยเพื่อพัฒนางานวิจัยให้สามารถประยุกต์ใช้ได้ภายในประเทศไทยตลอดจนก้าวทัน
กับองค์ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับในนานาอารยประเทศ
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิชาการนักวิจัยและหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาธุรกิจ
ในประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
- เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา นักวิจัย ในสาขาการบริหารธุรกิจทุกระดับการศึกษาได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยน
ความคิดเห็นเชิงวิชาการ ตลอดจนมีเวทีภายในประเทศสำหรับการฝึกฝนการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิชาการอัน
จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ได้
3. กำหนดการประชุมวิชาการ
- วัน-เวลา : วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม 2551 เวลา 08.30 - 16.30 น.
- สถานที่ : ห้องประชุม อาคาร 5 ชั้น 2, ชั้น 3, ชั้น 4, ชั้น 5 และชั้น 6 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
4. วิธีการและขั้นตอนการดำเนินงาน
- ประกาศรับบทคัดย่อเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมประชุม
- คัดเลือกบทคัดย่อที่สอดคล้องกับหัวข้อการประชุมฯเพื่อจัดทำบทความฉบับเต็ม
- ตรวจสอบคุณภาพทางวิชาการโดยคณะกรรมการวิชาการที่คัดเลือกโดยข่ายงานฯ
- จัดเตรียมเอกสารและซีดีรอมรวมบทความประกอบการประชุมฯ
- จัดประชุมวิชาการ ให้มีการนำเสนอผลงานโดยการบรรยาย และ/หรือแผ่นโปสเตอร์
- จัดให้มีการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างการประชุมฯ
- จัดให้มีการสัมมนาเชิงวิชาการหัวข้อที่เป็นที่สนใจในระหว่างการประชุมฯ
5. จำนวนและคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประชุม รวมผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 150-200 ท่าน จำแนกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
- คณาจารย์-นักวิจัยสาขาการบริหารธุรกิจและที่เกี่ยวข้อง
- นิสิต-นักศึกษาสาขาการบริหารธุรกิจและที่เกี่ยวข้อง
- ผู้สนใจจากภาคธุรกิจการจัดการ
6. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- นักวิชาการและนักวิจัยในสาขาการบริหารธุรกิจและสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องมีโอกาสเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยน
ความรู้ประสบการณ์และผลงานวิจัยที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในประเทศ
- สามารถเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านการบริหารธุรกิจและประยุกต์ใช้ในธุรกิจให้เป็นที่เข้าใจอย่างกว้างขวาง
- เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิชาการนักวิจัยและหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาธุรกิจในประเทศไทย
- นิสิต นักศึกษา ในสาขาการบริหารธุรกิจมีเวทีภายในประเทศสำหรับฝึกฝนการนำเสนอ และเผยแพร่ผลงานวิชาการ
|