ค้นหา
ห้องข่าว

ดัชนีฯ SMEs ส.ค. ขยับขึ้นทั้งปัจจุบันและคาดการณ์

 ดัชนี TSSI SMEs เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นทั้งปัจจุบัน และคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าเป็น 45.9 และ 48.2 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยมีกลุ่มค้าปลีกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บริการก่อสร้าง และค้าส่งวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้นระดับสูง ผลจากการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางเพิ่มขึ้น
       

       นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนสิงหาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 45.9 จากระดับ 45.2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 46.0 45.8 และ 45.8จากระดับ 45.0 44.8 และ 45.6 ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 45.3 และ 42.7 จากระดับ 46.7 และ 43.9 ตามลำดับ
       
       “ผลการสำรวจในเดือนสิงหาคม พบว่าทั้งค่าดัชนีปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการลงทุนภาคเอกชนก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ออกมาตรการกู้วิกฤติพลังงาน ทั้งลดการเก็บภาษีน้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมัน ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้าผันแปร ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2553 ซึ่งผลดีต่อทั้งประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ” นายภักดิ์ กล่าว
       
       เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งวัสดุก่อสร้าง มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 46.3 จากระดับ 43.2 (เพิ่มขึ้น 3.1) เห็นได้จากปริมาณการจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนภาคการค้าปลีก กิจการค้าปลีกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 48.4 จากระดับ 43.9 (เพิ่มขึ้น 4.5) สะท้อนได้จากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีการปรับตัวเพิ่มเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แม้จะปรับตัวลดลง แต่ก็ลดลงน้อยกว่าเดือนก่อนหน้านี้
       
       ส่วนภาคบริการ กิจการบริการก่อสร้าง ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 46.5 จากระดับ 43.1 (เพิ่มขึ้น 3.4) จากการที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 18.8 และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 นับเป็นปัจจับบวกในการลงทุนก่อสร้างในระยะนี้
       
       ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.2 จากระดับ 45.6 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการเช่นกัน โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.4 47.2 และ 48.4 จากระดับ 48.7 44.6 และ 45.6 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ และต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 53.1 และ 48.5 จากระดับ 47.7 และ 44.6 ตามลำดับ
       
       สำหรับผลการสำรวจดัชนีฯ รายภูมิภาคในเดือนสิงหาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม พบว่าเกือบทุกภูมิภาคค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เป็นภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 40.4 จากระดับ 35.7 (เพิ่มขึ้น 4.7) รองลงมาคือภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.6 จากระดับ 44.2 (เพิ่มขึ้น 3.5) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 43.0 จากระดับ 40.8 (เพิ่มขึ้น 2.2) และกรุงเทพฯ ปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 46.0 จากระดับ 45.7 (เพิ่มขึ้น 0.3) มีเพียงภาคใต้ภูมิภาคเดียวที่ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 49.1 จากระดับ 54.3 (ลดลง 5.2)
       
       “ค่าดัชนีฯ ปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ทั้งในภาพรวมและดัชนีฯ รายภูมิภาค แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งแสดงว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจการในระดับที่ไม่ดีนัก โดยเห็นว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการสูงที่สุด ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน รองลงมาคือภาวะการแข่งขันในตลาด ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่สูงขึ้น การหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ และระดับราคาน้ำมันและค่าขนส่ง ตามลำดับ ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกลับเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการมองว่ามีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการในระดับต่ำ” นายภักดิ์ กล่าวในที่สุด

                                                                   ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 1 ตุลาคม 2552


 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350