ค้นหา
ห้องข่าว

ธุรกิจฝืด แฟรนไชส์เฟื่องฟูคนแห่ลงทุนเครื่องหยอดเหรียญ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานแสดงสินค้าเผย ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดแฟรนไชส์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยแฟรนไชส์ยอดฮิตคือ อาหารและเครื่องดื่ม เพราะสามารถเริ่มทำได้ง่าย ต้นทุนไม่สูง ชี้ธุรกิจเครื่องหยอดเหรียญยังคงมาแรง โดยเฉพาะเครื่องเติมเงินมือถือออนไลน์ จากปัจจัยด้านความสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายในยุคเศรษฐกิจฝืด
       

       นายวีระเดช ชูแสงกิจ ประธานจัดงานมหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ ครั้งที่ 2 และบรรณาธิการบริหารนิตยสารตั้งตัว เปิดเผยว่า จากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวในรูปแบบแฟรนไชส์ ดูได้จากการขยายตัวของธุรกิจแฟรนไชส์ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนแฟรนไชส์ที่มีการขยายตัวได้ดี ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป โดยดูจากราคาเป็นปัจจัยหลักว่าเหมาะสมกับพื้นที่ใดมากกว่า เช่น แฟรนไชส์ที่มีการใช้เทคโนโลยี และใช้เงินลงทุนสูงหน่อย อาจมีปริมาณการขยายตัวในเขตเมืองมากกว่า ส่วนในต่างจังหวัดแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่มที่ลงทุนหลักหมื่นจะได้รับความนิยมกันมากในขณะนี้
       
       อย่างไรก็ตาม ในอนาคตทางนิตยสารตั้งตัว มีแผนที่จะจัดงานมหกรรมแฟรนไชส์ขึ้นในต่างจังหวัด ทั้งนี้คงต้องดูปัจจัยหลายประการที่ต้องทำการบ้าน โดยต้องลงไปดูในแต่ละพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมในการจัดงานมากน้อยเพียงใด เพราะมีผู้จัดงานหลายรายไปจัดงานที่ต่างจังหวัดแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
       
       สำหรับประเภทของแฟรนไชส์ที่ได้ยังคงเป็นที่นิยม และมาแรง ในปัจจุบัน คือ แฟรนไชส์อาหาร และเครื่องดื่ม เพราะเป็นธุรกิจที่เริ่มง่าย หาทำเลง่าย และลงทุนน้อย ทั้งนี้ธุรกิจเครื่องหยอดเหรียญก็ยังคงมาแรงเช่นกัน โดยเฉพาะเครื่องเติมเงินมือถือออนไลน์ ด้านราคาของแฟรนไชส์ จะต้องไม่เกิน 50,000 บาท เพราะเป็นเงินก้อนที่ไม่เยอะมาก และที่สำคัญจะต้องมีโปรโมชั่นให้ผ่อนชำระได้ จึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้ลงทุนรายใหม่อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่ต้องการต่อยอดเงินให้งอกเงยมากกว่าการฝากธนาคาร กลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ถือว่าเป็นลูกค้าหลักของธุรกิจประเภทหยอดเหรียญเลยก็ว่าได้ เพราะหากได้ลองลงทุนเครื่องแรกแล้วประสบความสำเร็จ มีรายได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ กลุ่มนี้มักลงทุนต่อเนื่อง และลงคราวละจำนวนมาก
“จากประสบการณ์ในแวดวงแฟรนไชส์กว่า 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผมพบจุดอ่อนของงาน แฟรนไชส์ที่จัดขึ้นทั่วไปว่า ส่วนใหญ่จะเป็นงานแฟรนไชส์ที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มนิชมาร์เก็ต ที่เน้นจัดกันในฮอล์ล ชั้นบนของห้างฯ หรือที่ ศูยน์แสดงสินค้า ซึ่งเป็นการจัดเฉพาะอย่างเป็นทางการ ไม่มีการประชาสัมพันธ์เชิงแมส ทำให้งานแฟรนไชส์ที่จัดทั่วไปมีแน้วโน้มของคนเข้าชมงานเพื่อช้อปธุรกิจน้อยลงทุกปี
       
       สำหรับแนวโน้มของการจัดงานแสดงสินค้าในอนาคต นั้นมองว่า ควรมีรูปแบบการจัดงานที่ตอบโจทย์คนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น หรือเป็นการจัดงานเฉพาะกลุ่มนิชมาร์เก็ต และโรดโชว์ไปตามทำเลต่างๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ใช่อยู่ เป็นลักษณะให้กลุ่มเป้าหมายเป็นเซ็นเตอร์ในการจัดงาน และผู้จัดงานนำงานที่ใช่ไปเสิร์ฟให้ถึงสถานที่ที่กลุ่มเป้าหมายคุ้นเคย ไปสะดวก ไม่ได้ตั้งใจก็สามารถร่วมงานได้ และเมื่อร่วมงานแล้วรูปแบบของงานก็จะต้องเหมาะสมหรือมีกิจกรรมที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มเป้าหมายเกิดพฤติกรรมช้อปปิ้งธุรกิจในงาน
       
       อาจกล่าวได้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์นั้นเหมือนสินค้าแฟชั่น บางรายเพิ่งทำธุรกิจได้ไม่นานก็เปิดขายแฟรนไชส์แล้ว นั้น ในปัจจุบันได้มีกฎหมายแฟรนไชส์เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์บ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่ครอบคลุมรายละเอียดที่ลงลึกเมื่อปฎิบัติจริง ซึ่งต้องยอมรับว่า ธุรกิจแฟรนไชส์นั้นมีหลายรูปแบบ หลายมาตรฐาน ฉะนั้นผู้เลือกลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อน เช่น ขอเข้าไปดูบริษัทว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหน
       
       ขอดูเอกสารการจดทะเบียนบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจประเภทใด ลองเข้าไปหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หาดูว่ามีคนคอมเม้นท์แฟรนไชส์ที่เราสนใจอยู่ไว้อย่างไรบ้างเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะส่วนใหญ่เวลามีคนโดนหลอกเกี่ยวกับแฟรนไชส์มักมีการเข้าไปตั้งกระทู้ไว้ให้อ่านอย่างละเอียด
       
       นอกจากนี้ สังเกตว่าเวลาธุรกิจแฟรนไชส์ลงโฆษณา หรือในใบปลิวแผ่นพับ หากมีบอกแค่เบอร์มือถือโดยไม่มีชื่อบริษัท, หมายเลขเบอร์โทร 02, ไม่มีเว็บไซต์ของตัวเอง, และหากสังเกตว่าในแต่ละครั้งที่ลงโฆษณามักเปลี่ยนชื่อผู้ติดต่อ เปลี่ยนเบอร์มือถือบ่อยๆ, รูปที่ใช้อ้างอิงว่ามีการเปิดสาขาแฟรนไชส์เป็นรูปเดิม สถานที่เดิม ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่เดือน ฯลฯ มักเป็นแฟรนไชส์เกิดใหม่ที่ต้องใช้ความรอบคอบในการลงทุนเพิ่มขึ้น ลองสอบถามไปที่นิตยสารที่แฟรนไชส์รายนั้นลงโฆษณาว่า มีประวัติเสียด้านการชำระค่าลงโฆษณาหรือไม่ หรือมีความน่าเชื่อถือในการร่วมลงทุนขนาดไหนลองสอบถามแฟรนไชส์ซีรายที่ลงทุนไปแล้วว่า แฟรนไชส์ซอว์มีการดูแลอย่างไรบ้าง เป็นไปตามที่โฆษณาไว้หรือไม่
       
       สำหรับการจัดงานมหกรรมแฟรนไชส์สร้างอาชีพ ล่าสุดที่จัดขึ้นที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง นั้นได้ การตอบรับจากประชาชน เป็นอย่างสูง เฉพาะที่มาลงทะเบียนณ บูธ นิตยสารตั้งตัว มีประมาณ 5,000 คน ส่วนผู้ร่วมงานทั่วไปวันพฤหัส-ศุกร์ประมาณวันละ 65,000 คน วันเสาร์-อาทิตย์ ประมาณวันละ 100,000 คน (งานจัด 4 วัน) ทั้งนี้เป็นการรวมปริมาณคนที่เข้ามาใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิล์ด สำโรงแล้ว
       
       ด้านรายได้และปริมาณเงินหมุนเวียนในงานนั้นยังไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายไม่เปิดเผยข้อมูลยอดขายที่แน่ชัด และบางรายเกิดการตกลงซื้อขายหลังจากงานจบแล้ว โดยแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมเป็นที่สนใจของผู้เข้าชมงานมากที่สุด คือแฟรนไชส์ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องหยอดเหรียญ นายวีระเดช กล่าวในที่สุด

                                                                 ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 7 กันยายน 2552


 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350