ค้นหา
ห้องข่าว

ดัชนีSMEsเพิ่มต่อเนื่องแต่ยังต่ำกว่าระดับ50

ดัชนีเชื่อมั่นSMEs เดือนก.ค.เพิ่มต่อเนื่อง 45.2 แต่ยังต่ำกว่าระดับ 50 เหตุเศรษฐกิจยังฟื้นไม่ชัด กำลังซื้อยังหดตัว ต้นทุนพุ่ง การเมืองไม่นิ่ง

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2552 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45.2  จากระดับ 42.9 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45.0  44.8 และ 45.6 จากระดับ 42.6  41.9 และ 43.9 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่  46.7 และ 43.9 จากระดับ 34.0 และ 37.3 ตามลำดับ

“ผลการสำรวจเดือนกรกฎาคม พบว่าทั้งค่าดัชนีปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังคงเพิ่มขึ้นและเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการ ปัจจัยสำคัญมาจากการที่รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุ 5 มาตรการลดค่าครองชีพไปจนถึงสิ้นปี 2552 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 กอรปกับกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีความรุนแรง รวมถึงความสำเร็จในการจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน แต่ผลจากระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การแพร่ะบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมถึงการส่งออกที่ยังคงชะลอตัว ยังเป็นปัจจัยบั่นทอนสำคัญของเดือนนี้” นายภักดิ์ กล่าว

เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าเกษตร มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 44.6 จากระดับ 41.8 (เพิ่มขึ้น 2.8) ซึ่งมีผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะลำใย และยางพารา ส่วนภาคการค้าปลีก กิจการร้านค้าปลีก (สมัยใหม่) มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 47.0 จากระดับ 41.7 (เพิ่มขึ้น 5.4) ผลจากการที่ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ส่งผลให้ผู้ประกอบการมียอดจำหน่ายสินค้าและกำไรเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ภาคบริการ กิจการในกลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.7 จากระดับ 40.7 (เพิ่มขึ้น 7.0) บริการท่องเที่ยว ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 46.3 จากระดับ 40.1 (เพิ่มขึ้น 6.2) และโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ บังกะโล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.3 จากระดับ 45.5 (เพิ่มขึ้น 1.7) ทั้งนี้มีผลมาจากการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีการจัดงานประชุมสัมมนาเป็นจำนวนมาก

ประกอบกับกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวจัดทำขึ้น ได้ส่งผลในช่วงนี้เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกัน จึงทำให้มีการใช้บริการธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่แนวโน้มของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45.2 จากระดับ 42.9 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการเช่นกัน โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.7  44.6 และ 45.6 จากระดับ 45.0  41.7 และ 43.2 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ และต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.7 และ 44.6 จากระดับ 36.3 และ 37.0 ตามลำดับ

สำหรับผลการสำรวจรายภูมิภาคในเดือนกรกฎาคม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน พบว่าเกือบทุกภูมิภาคค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 45.7 จากระดับ 41.4 (เพิ่มขึ้น 4.2) รองลงมาคือ ภาคใต้ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 54.3 จากระดับ 51.1 (เพิ่มขึ้น 3.2) ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 35.7 จากระดับ 32.6 (เพิ่มขึ้น 3.1) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 40.8 จากระดับ 39.4 (เพิ่มขึ้น 1.4) มีเพียงภาคเหนือ ภูมิภาคเดียวที่ค่าดัชนีลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 44.2 จากระดับ 44.3 (ลดลง 0.1)

“แม้ว่าค่าดัชนีปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ทั้งในภาพรวมและดัชนีรายภูมิภาค จะมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น แต่ก็อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนว่า ถึงผู้ประกอบการจะมีความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก และสิ่งที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบสูงที่สุด ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน รองลงมาคือ การหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ ภาวะการแข่งขันในตลาด ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่สูงขึ้น ระดับราคาน้ำมันและค่าขนส่ง และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ตามลำดับ” นายภักดิ์ กล่าว

                                                         ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350