ค้นหา
ห้องข่าว

เอสเอ็มอี 5 แสนขาดสภาพคล่อง

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ธพว.) เปิดเผยว่า เป็นห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 5 แสนรายจะเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อย่างมาก เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวและขาดสภาพคล่อง ทำให้เอสเอ็มอีไม่มีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ให้ได้ทันตามกำหนด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ และอัญมณีที่หลายรายเสียประวัติในการชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์แล้ว
   
ทั้งนี้ต้องการให้สถาบันการเงินผ่อนปรน เงื่อนไขเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่าย ขึ้น เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ผ่านช่วงต่ำ สุดแล้ว และเศรษฐกิจไทยก็ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 
    
สำหรับธพว.ได้ขยายวงเงินปล่อยสินเชื่อเพิ่มจาก 2.1 หมื่นล้านบาท เป็น 4.8 หมื่นล้านบาทเพื่อเพื่มสภาพคล่องและรองรับการขยายกำลังการผลิต  โดยช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค.  ปล่อยสินเชื่อไปได้แล้ว 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่สัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 51% 
   
“คณะกรรมการธพว.ได้มีการหารือกันว่า ที่ผ่านมาแบงก์ถูกตำหนิจากหลายฝ่ายว่าไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีนั้น เพราะส่วนหนึ่งแบงก์ยังอ่อนด้านการประชาสัมพันธ์ ดังนั้นในวันที่ 3 ก.ย.นี้ จะจัดสัมมนาแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีครึ่งปีหลัง และการร่วมมือกับพันธมิตรอย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกโรดโชว์ทั้ง 4 ภาค เพื่อให้เอสเอ็มอีได้รับทราบสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ”
   
สำหรับสถานการณ์การจ้างงานล่าสุดอยู่ในระดับที่ดีมาก เพราะผู้ประกอบการได้รับแรงงานกลับเข้าสู่ระบบมากขึ้นหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีและยอดคำสั่งซื้อเพิ่ม ดังนั้นคาดว่าตัวเลขผู้ว่างงานปีนี้จะเหลือเพียง  5-6 แสนราย
      
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เตรียมเอกสารเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตกับผู้ประกอบการทันทีหากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กรอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 19 ส.ค. 52  มีความเห็นให้กรมโรงงานฯออกใบอนุญาตได้สำหรับโครงการที่ผ่านการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรม การกฤษฎีกา
    
ทั้งนี้โครงการ ที่ผ่านอีไอเอ และรอ  ใบอนุญาตกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมมี 13 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 59,501 ล้านบาท เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขอขยายโรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา รวมถึงกฟผ.ขอตั้งโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี และขอขยายโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ, บริษัท ปตท.ขอตั้งโรงไฟฟ้าในโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่จังหวัดระยอง, บริษัทภูเขียว-ไอโอเอเนอยี ขยายโรงไฟฟ้าที่จังหวัดชัยภูมิ
    
บริษัทอนุรักษ์พลังงานซีเมนต์ไทยขอตั้งโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสระบุรี 2 แห่งและที่จ.นครศรีธรรม ราชอีก 1 แห่ง, บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์  ขอตั้งโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสระบุรี, บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) ขอตั้งโรงไฟฟ้าที่จังหวัดลำปาง, บริษัทปูนซิเมนต์ เอเชีย ขอลงทุนปรับปรุงคุณภาพของเสียจากกระบวนการผลิตที่จ.สระบุรี, บริษัท อลูคอน ขยายการผลิตผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมที่จังหวัดชลบุรี และบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย)  ขยายการลงทุนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันที่ จ.ชลบุรี

                                                               ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350