ค้นหา
ห้องข่าว

ธุรกิจ สมุนไพร โอกาสใหม่ ลุยวิจัยเบิกทางส่งออกตปท.

เอสเอ็มอีหันมาจับธุรกิจเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ และอาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพรหนาตา หนุนดันให้ขึ้นแท่น "โปรดักท์ แชมเปียน" แข่งเกาหลี

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) หันมาจับธุรกิจเครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ และอาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพรหนาตา หนุนดันให้ขึ้นแท่น "โปรดักท์ แชมเปียน" แข่งกับโสมเกาหลี มาตรฐานจีเอ็มพียังเป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่

เอสเอ็มอีที่เติบโตจากธุรกิจเวชกรรมเริ่มบุกตลาดผลิตภัณฑ์จากสารสกัดสมุนไพรโดยอิงกับผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยกันอย่างคึกคัก จากบริษัทที่เคยเป็นที่รู้จักกันเฉพาะในแวดวง เริ่มคิดใหญ่หาช่องทางส่งผลิตภัณฑ์สู่ตลาดต่างประเทศ

หนึ่งในนั้นคือ บริษัท อีโค เว็ท จำกัด ที่หยิบเอางานวิจัยเจลและสเปรย์จากขมิ้นชันรักษาโรคผิวหนังและกำจัดแบคทีเรียสำหรับสุนัข และแมว มาพัฒนาเป็นสินค้าเจาะกลุ่มสัตว์เลี้ยง ตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งอยู่น้อยราย หลังรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และยังมีแผนรับส่งผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดจากไพล พืชสมุนไพรอีกชนิดที่กำลังถูกปั้นให้เป็นสินค้าแบรนด์ไทย

รศ.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เสาหลักด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทยเห็นพ้องว่า ประเทศไทยมีสมุนไพรหลายตัวที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ อาทิเช่น ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร มีคุณสมบัติเด่นในการรักษาโรคหลายชนิด รวมถึงไข้หวัด หรือแม้กระทั่งพริก

"พืชผักสวนครัวที่คนส่วนใหญ่มองเป็นอาหารเท่านั้น สามารถหยิบมาพัฒนาเป็น Product Champion ของประเทศได้หมด" ผู้บริหารระดับสูงจาก สวทช.กล่าว โดยเทียบเคียงกับโสมเกาหลี ผลิตภัณฑ์ที่ถือว่ามีคุณค่าครอบจักรวาล และเป็นส่งผสมตั้งแต่เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ

เช่นเดียวกับ บางกอกแล็บ แอนด์ คอสเมติค จำกัด ที่นำพันธุ์พริกยอดสนเข็ม 80 ผลงานปรับปรุงพันธุ์จากนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเวชภัณฑ์ยาแก้ปวดเมื่อยจนถึงยาแก้อักเสบในรูปแบบเจลพริกใช้ในโรงพยาบาลแพทย์ทั่วประเทศ และร้านขายยาทั่วไป ส่วนในต่างประเทศจำหน่ายที่เมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

บางกอกแล็บยังมีโครงการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ยาคลายกล้ามเนื้อแบบอโรมา ยารักษารากฟัน และมีแผนจะขยายตลาดต่างประเทศทั้งยุโรป และญี่ปุ่น

แม้แต่ธุรกิจที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการแพทย์ และเวชภัณฑ์จากสมุนไพรมานานอย่างโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นอกจากพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างยาสีฟัน สบู่ และเครื่องดื่ม ไปจนถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และยาแก้ปวด แก้ไอ ยังสนใจนำนาโนเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพ และหาโอกาสจากเทคโนโลยีสมัยใหม่

ไม่นานมานี้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ศูนย์นาโนเทคโนโลยี ศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพรไทย ได้ลงนามความร่วมมือวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการวิจัยร่วมนาโนเวชสำอางสมุนไพรไทย

ผศ.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการแนะนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เห็นว่า จุดเด่นที่ทำให้นวัตกรรมจากสมุนไพรเป็นจุดสตาร์ทของธุรกิจเอสเอ็มอีได้ง่ายกว่าอุตสาหกรรมอื่นคือ ใช้เวลาพัฒนาจากขั้นตอนวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์สั้นกว่า

"นวัตกรรมที่เหมาะกับเอสเอ็มอีไทยมากที่สุด ควรเป็นนวัตกรรมเชิงเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร แม้ว่าเราจะมีศักยภาพด้านยานยนต์ การแพทย์ และซอฟต์แวร์ แต่พวกนั้นต้องอาศัยระยะเวลา ขณะเดียวกันประเทศผู้นำเทคโนโลยีเขาล้ำหน้าไปอีกระดับแล้ว" คณบดีนวัตกรรม มจธ. ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่เอสเอ็มอีไทยต้องฟันฝ่าเพื่อก้าวสู่ตลาดโลกคือ มาตรฐานสากลที่เฝ้าจับตามองตั้งแต่กระบวนการผลิตสมุนไพร ปริมาณสารสำคัญ ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ยังไม่นับความจำเป็นต้องมีผลวิจัยรองรับ และการทดสอบทางคลินิกยืนยันประสิทธิภาพ

รศ.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ คณบดีผู้ก่อตั้งคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า มาตรฐานจีเอ็มพี (Good manufacturing practice) คือ เส้นผ่านแดนสำคัญที่จะบอกว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสามารถก้าวข้ามไปสู่พรมแดนต่างประเทศได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นมาตรฐานปฏิบัติที่ยอมรับกันทั่วโลก

“ที่ผ่านมากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในบ้านเราเน้นแต่ความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว ทำให้ยังขาดหลักเกณฑ์การตรวจวัดปริมาณสารสำคัญที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ก็ยังอ้างสรรพคุณเดิมๆ ในรูปของสินค้าโอท็อปราคาถูก แม้จะมีการค้นพบหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาก็ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภค” นักวิชาการจาก ม.รังสิต กล่าว

                                                                  ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 17 สิงหาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350