ค้นหา
ห้องข่าว

iTAP ยกเทคโนโลยีลดต้นทุน SMEs ชู 3 ธุรกิจหลักหวังขับเคลื่อนศก.ชาติ

สวทช. เปิดตัวโครงการ iTAP Big Impact ยกระดับเอสเอ็มอีไทย ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านไฟฟ้า เสริมแกร่งผู้ประกอบการ นำร่อง 3 ธุรกิจ โรงสีข้าว เตาอบยางแผ่นรมควัน และฟาร์มเลี้ยงไก่ ชี้ความธุรกิจดังกล่าว มีจำนวนผู้ประกอบการหลักของประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การสร้างงานให้แก่รากหญ้าได้ คาดประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการประหยัดไฟฟ้ารวมกว่า 21,000 ล้านบาท/ปี
       

       คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ในโครงการ iTAP Big Impact ซึ่งภาคธุรกิจดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ โดยโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานโดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างเร่งด่วน เห็นผลลัพธ์ได้จริงและชัดเจน โดยคาดว่าจะสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้ประมาณ 21,000 ล้านบาท/ปี
       
       ทั้งนี้ได้ สวทช. ได้นำร่อง 3 ธุรกิจ ได้แก่ โรงสีข้าว เตาอบยางแผ่นรมควัน และฟาร์มเลี้ยงไก่ ซึ่งเน้นที่การนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยลดต้นทุนในเรื่องของพลังงานไฟฟ้าในขั้นตอนการผลิต พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจทั้ง 3 ประเภท ให้มีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดได้มีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้วหลายราย
       
       ด้าน ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการ iTAP และรองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการ iTAP Big Impact ได้มีการพัฒนาเทคนิคที่ง่ายต่อการดำเนินงานในการปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันทีกับโรงสีข้าวกว่า 43,000 แห่ง ฟาร์มเลี้ยงไก่ 64,000 แห่ง และเตาอบรมควันอีก 660 แห่ทั่วประเทศ
       
       “จากเทคนิคที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เราสามารถเพิ่มกำไรได้ประมาณ 20% ให้กับเอสเอ็มอีโรงสีข้าวได้ โดยการให้คำปรึกษา ฝึกอบรมทางเทคนิคง่ายๆ แก่ผู้ประกอบการโรงสีข้าว เช่น ให้สามารถปรับระยะห่างลูกยางกระเทาะข้าวให้ถูกต้องเหมาะสม โรงสีก็สามารถลดการหักของเมล็ดข้าวได้ ในขณะฟาร์มเลี้ยงไก่ทางเราก็ช่วยคิดค้นพัดลมระบายอากาศในฟาร์มเลี้ยงไก่ ที่จากเดิมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และออกแบบได้ไม่เหมาะสมกับโรงเรือนเลี้ยงในประเทศไทย และเสียงของใบพัดก็ดังทำให้ไก้เครียด ซึ่งทีมวิจัยได้ออกแบบพัดลม 3 ใบพัดให้เหมาะกับเมืองไทย จากเดิมมี 6 ใบ ทำให้เกิดเสียงดัง ส่งผลไก่เติบโตได้ดี มีคุณภาพและน้ำหนักที่เหมาะสม และสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ประมาณ 23% หรือประมาณ 20,000 บาท/โรงเรือน/ปี เป็นต้น” ดร.ชัชนาถ กล่าว
       
       อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางสวทช. ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าขอรับคำปรึกษา และทีมงานเพื่อนำไปปรับปรุงภาคการผลิตของธุรกิจทั้ง 3 ประเภท โดยมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 350 คน ที่พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในขณะที่ทาง iTAP ยังช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งสำหรับค่าผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินโครงการ ซึ่งโครงการสามารถช่วยสนับสนุนได้สูงสุด 500,000 บาทต่อโครงการ หรือสิบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2564-700 ต่อ iTAP หรือที่ www.tmc.nstda.or.th/itap

                                                                  ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 4 สิงหาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350