ค้นหา
ห้องข่าว

มาตรการกระตุ้น ศก. ออกผล เชื่อมั่น SMEs ขยับเพิ่มขึ้น

สสว. เผยดัชนีเชื่อมั่น SMEs ประจำเดือน มิ.ย. และ Q2 เพิ่มขึ้นเป็น 42.9 และ 41.1 โดยเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ บริการอสังหาริมทรัพย์ครองแชมป์เพิ่มขึ้นสูงสุด ตามด้วยกิจการค้าส่งและค้าปลีกสินค้าอุปโภค/บริโภค เผยปัจจัยหนุนสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และแนวโน้มการเมืองคลี่คลาย
       
        นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนมิถุนายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2552 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 42.9 จากระดับ 40.2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกภาคธุรกิจ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 42.6 41.9 และ 43.9 จากระดับ 41.2 40.2 และ 39.8 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ และต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 34.0 และ 37.3 จากระดับ 27.0 และ 31.6 ตามลำดับ
       
       “จากผลการสำรวจเดือนมิถุนายน ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการนั้น มีปัจจัยสำคัญมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐได้มีส่วนช่วยให้การบริโภคขยายตัวดีขึ้น ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายในทางที่ดี นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่งผลให้กิจการให้เช่าหอพัก อพาร์ตเมนท์ แมนชั่น ฯลฯ มีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการอสังหาริมทรัพย์ มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด” นายภักดิ์ กล่าว
       
       เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 45.1 จากระดับ 42.6 (เพิ่มขึ้น 2.5) ภาคการค้าปลีก กิจการร้านค้าปลีก (สมัยใหม่) มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 41.7 จากระดับ 38.8 (เพิ่มขึ้น 2.9) และภาคบริการ กิจการบริการอสังหาริมทรัพย์ มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 49.5 จากระดับ 41.7 (เพิ่มขึ้น 7.8) อย่างไรก็ดีจากการสำรวจทั้งหมดมีเพียงกิจการค้าส่งสินค้าเกษตร ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 41.8 จากระดับ 42.1 (ลดลง 0.3)
       
       ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 42.8 จากระดับ 41.6 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการเช่นกัน โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 45.0 41.7 และ 43.2 จากระดับ 42.8 40.7 และ 42.1 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 37.0 จากระดับ 32.1 ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 36.3 จากระดับ 36.7
       
       ในส่วนผลการสำรวจรายภูมิภาคในเดือนมิถุนายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม พบว่า เกือบทุกภูมิภาคค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคใต้ มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 51.1 จากระดับ 45.7 (เพิ่มขึ้น 5.4) รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 41.4 จากระดับ 36.3 (เพิ่มขึ้น 5.2) ภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 44.3 จากระดับ 42.4 (เพิ่มขึ้น 1.9) และภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 32.6 จากระดับ 32.4 (เพิ่มขึ้น 0.2) ทั้งนี้มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูมิภาคเดียวที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 39.4 จากระดับ 40.3 (ลดลง 0.9)
       
       นายภักดิ์ เปิดเผยต่อถึงดัชนี TSSI SMEs ประจำไตรมาส 2/2552 ว่า จากการเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2552 พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 41.1 จากระดับ 40.8 (เพิ่มขึ้น 0.3) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 28.4 และ 33.7 จากระดับ 21.5 และ 31.1 (เพิ่มขึ้น 6.9 และ 2.6) ขณะที่คาดการณ์ไตรมาสหน้า ดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 41.8 จากระดับ 44.0 (ลดลง 2.1) และเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 33.2 จาก 35.6 (ลดลง 2.4) ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 34.4 จาก 33.4 (เพิ่มขึ้น 1.0)
       
       “แม้ว่าทั้งดัชนีปัจจุบัน ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมถึงดัชนีไตรมาส 2/2552 จะมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นในทุกภาคธุรกิจ แต่ก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในการประกอบกิจการไม่ดีนัก และสิ่งที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบสูงที่สุด ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน รองลงมาคือ การหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ ภาวะการแข่งขันในตลาด ราคาต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่สูงขึ้น ระดับราคาน้ำมันและค่าขนส่ง และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ตามลำดับ นอกจากนี้ยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาของผู้ประกอบการและกลุ่มนักท่องเที่ยว ”

 

 

 

                                                                                                ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 4 สิงหาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350