ค้นหา
ห้องข่าว

SME BANK แก้วิกฤตลำไยล้นตลาด ทุ่มทุนหมุนเวียนสนองมาตรการรัฐฯ

เอสเอ็มอีแบงก์ เผยพร้อมสนุบสนุนเงินทุนหมุนเวียนผู้ประกอบการนำเงินซื้อลำไยอบแห้งทั้งเปลือกปี 2552 สนองรัฐฯ ช่วยเกษตรกรลดขาดทุน เล็งมอบสาขาในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือเร่งดำเนินการ ปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 5% แก่ผู้ประกอบการที่มีโรงงานอบแห้งลำไย
       

       นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในการนำเงินทุนซื้อลำไยอบแห้งทั้งเปลือกปี 2552 ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สาขาที่อยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน และตาก ที่ตกลงรับซื้อลำไยสด (ร่วง) ในเกรดราคา AA ไม่ต่ำกว่า 12 บาท / กก. เกรด A ไม่ต่ำกว่า 8 บาท / กก. และเกรด B ไม่ต่ำกว่า 4 บาท / กก. ที่ได้แจ้งความประสงค์เข้าโครงการกับกระทรวงเกษตรฯ แล้ว โดยธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะผู้ประกอบการบางรายที่ได้ใช้บริการสินเชื่อsmePOWER เพื่อเสริมสภาพคล่องหรือ smePOWER เพื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานไปแล้วนั้น ก็สามารถนำเงินสนับสนุนสินเชื่อดังกล่าวไปรับซื้อลำไยสดได้ หากอยู่ในเงื่อนไขการรับซื้อตามราคาที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
       
       ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2552 – 30 มิถุนายน 2553 ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายได้แก่ สหกรณ์ / กลุ่มเกษตร / วิสาหกิจชุมชน / ภาคเอกชน ที่มีโรงงานอบแห้งลำไย ผู้ประกอบการที่เข้าข่ายเกณฑ์ดังกล่าวสนใจจะใช้สินเชื่อประเภทใดกับธนาคารก็ได้ โดยธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร
       
       นายโสฬส กล่าวอีกว่า การสนับสนุนเงินเพื่อให้ผู้ประกอบการซื้อลำไยสดเพื่อนำไปอบแห้งทั้งเปลือกเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐฯ ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจโรงอบลำไย เพื่อเกษตรกรได้ขายลำไยในราคาที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้ความช่วยเหลือ และผู้ประกอบการจะได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินการอบแห้งลำไยทั้งเปลือก โดยธนาคารจะออกหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่จริง ให้แก่ลูกค้าของธนาคารเพื่อนำไปประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการกับกระทรวงเกษตรฯ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมการออกหนังสือรับรอง และจะรวบรวมเอกสารจากสาขาที่มีลูกค้าของธนาคารเข้าร่วมโครงการเพื่อตั้งเบิกเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยจากกระทรวงเกษตรฯให้กับลูกค้าต่อไป

                                                              ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 31 กรกฎาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350