ค้นหา
ห้องข่าว

จับชีพจรเอสเอ็มอีทั่วไทยโคม่า

สอท.ประเมินความต้องการสินเชื่อ ของกลุ่มเอสเอ็มอี เบื้องต้นอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง พร้อมกับประเมินจำนวนผู้ตกงานในภาคอุตสาหกรรม ที่ 8 แสนคน...

นายสมมาต ขุนเศษฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 27 ก.ค. จะมีการประชุมสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเพื่อประเมินสภาวะการจ้างงานและสินเชื่อของภาคอุตสาหกรรม เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อรัฐบาล เบื้องต้นพบว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต้องการเงินมาเสริมสภาพคล่อง 10,000 ล้านบาท เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น เพราะระวังความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และยังพบว่าธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย กลับมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากกว่าธนาคารพาณิชย์เสียอีก เพราะกลัวความผิดหากสินเชื่อที่ปล่อยไปกลายเป็นเอ็นพีแอล

"ผมว่าธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หากปล่อยสินเชื่อไม่ได้ ตามเป้าก็ควรจะยุบไปเลยดีกว่า แล้วเปลี่ยนบทบาทไปเป็นกองทุน เพราะจะทำให้เม็ดเงินเข้าถึงเอสเอ็มอีได้เร็วกว่า ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น ยิ่งทำให้ทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ แม้จะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเป็นจำนวนมาก  แต่ก็ยังไม่มีการใช้เม็ดเงินเท่าที่ควร"

สำหรับภาวการณ์จ้างงานในช่วงที่ผ่านมา สมาชิก ส.อ.ท. ทั่วประเทศได้ประเมินว่ามีการตกงานในภาคอุตสาหกรรมไปแล้ว 800,000 คน ในจำนวนนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีการเรียกแรงงานกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ระบบในช่วงเวลาใด เพราะมีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่มียอดคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เข้ามาเพิ่มขึ้น ก็เริ่มมีการเรียกแรงงานกลับมา แต่บางอุตสาหกรรมยังไม่มีการเรียกแรงงานกลับ ซึ่งต้องพิจารณาในระยะยาวว่าแนวโน้มจะไปทิศทางใด เพราะการจ้างงานขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจซึ่งคิดว่าสภาพเศรษฐกิจ ตอนนี้ไม่ได้แย่ถึงขั้นอยู่ก้นเหว แต่ยังไม่ถึงขั้นกลับขึ้นมาพ้นปากเหวได้ ดังนั้น จึงยังคาดการณ์ไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับคำสั่งซื้อและภาวะการส่งออกไตรมาส 3 เป็นปัจจัยหลักด้วย

                                                                        ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 27 กรกฎาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350