ค้นหา
ห้องข่าว

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สวนกระแส โตเพิ่มร้อยละ 50

ธุรกิจขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตสุดบูม โตสวนกระแส ปีนี้ขยายตัวกว่าร้อยละ 50 มูลค่าสูงถึง 600,000 ล้านบาท คาดปี 2556 ทะลุ 1.2 ล้านล้านบาท ระบุภาครัฐเร่งเข้าดูแลทั้งกฎหมาย และความรู้ เพื่อความเชื่อมั่น ล่าสุดได้เปิดโครงการ e-Commerce Online รุ่นที่ 3 เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการ
       
       นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า แม้ว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย จะอยู่ในภาวะซบเซา ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจโลก ทว่า ธุรกิจขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต หรืออีคอมเมิร์ซ กลับโตสวนกระแส ได้รับความนิยมสูงขึ้นและที่สำคัญการซื้อขายผ่านระบบนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ต้องเดินทางไปจับจ่ายสินค้าให้สิ้นเปลืองค่าโดยสาร ค่าน้ำมัน โดยคาดว่า มูลค่ารวมปีนี้ (2552) ยังขยายตัวร้อยละ 50 หรือมีมูลค่าสูงถึง 600,000 ล้านบาท อีกทั้ง คาดว่า เมื่อถึงปี พ.ศ. 2556 มูลค่าจะเพิ่มสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท
       
       อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้เข้ามาดูแลการค้าขายสินค้า ไม่ว่าเป็นด้านกฎหมาย การแนะนำการทำธุรกิจ ก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยปัจจุบันการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ธุรกิจบริการ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เป็นต้น กว่าร้อยละ 90 เป็นการค้าระหว่างผู้ผลิตผู้ดำเนินธุรกิจ (BUSINESS) ไปสู่ผู้บริโภค (CONSUMER) หรือ B-C โดยในขณะนี้ กรมฯ ได้ส่งเสริมให้เกิดการค้าระบบ B-B ให้มากขึ้นเพื่อขยายระบบการค้า รวมทั้งการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น
       
       ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจ ได้จัดปฐมนิเทศโครงการ e-Commerce Online รุ่นที่ 3 เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการ สร้างมูลค่าเพิ่มและขยายโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาดออนไลน์ ตลอดจนมุ่งสร้างผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รายใหม่ ๆ ด้วยการเปิดอบรมให้ความรู้ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ประกอบการ ผ่านเว็บไซต์ www.dbdacademy.com โดยผู้สนใจเข้าอบรม 1,231 คน แบ่งเป็นหลักสูตรต่าง ๆ คือ หลักสูตรความรู้เบื้องต้นด้าน อี-คอมเมิร์ซ หลักสูตรการตลาดอี-คอมเมิร์ซ หลักสูตรการพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ หลักสูตรธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ งบการเงินสำหรับผู้บริหาร และการเขียนจดหมายภาษาอังกฤษเพื่อธุรกิจ

                                                              ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 กรกฎาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350