ค้นหา
ห้องข่าว

“ณรงค์ชัย” เติมไฟ SMEs กล้าส่งออกบุกตลาดใหม่

 “ณรงค์ชัย” แนะผู้ประกอบการ SMEs ไทย เร่งส่งออกตลาดใหม่ โดยเฉพาะอาเซียนที่ใกล้เปิดเสรีการค้า FTA ขณะที่ตะวันออกกลางเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการซื้อสูงมาก เร่งปรับปรุงรูปแบบการทำธุรกิจในตลาด เดิม และปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ควบคู่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
       
       นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวสัมมนา หัวข้อ “สู่มิติใหม่แห่งการส่งออกและการแข่งขัน” ว่า วิกฤตการเงินโลกทำให้ภาครัฐและเอกชนต่างผลักดันให้เกิดการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และลิเบีย ซึ่งมีกำลังซื้อสูงเช่นเดียวกับจีน และอินเดีย โดยเฉพาะตลาดในอาเซียนมีศักยภาพในการส่งออกมา เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับไทย รวมทั้ง จีน และอินเดีย ซึ่งภาษีนำเข้าหลายรายการลดลงเหลือ 0% รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำเอฟทีเอกับไทย แต่ภาษีนำเข้าต่ำอยู่แล้ว เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไต้หวัน และลิเบีย
       
       นอกจากตลาดอาเซียน เอเชียแล้ว นายณรงค์ชัย ยังมองว่า ตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ยังเปิดรับสินค้าของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยอันดับต้นของโลกต้องการนำเข้า สินค้าจากไทย โดยเฉพาะสินค้าหมวดยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
       
       โดยประเทศที่เป็นตลาดมีศักยภาพ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค ขณะที่ลิเบียเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดในแอฟริกาเหนือมีรายได้ประชากรต่อคนสูงประมาณ 2.5 เท่าของไทย อีกทั้งระบบภาษีที่เอื้อต่อการค้าและยังมีความต้องการสินค้าอีกมาก สินค้าที่ต้องการได้แก่ อาหารกระป๋องและแปรรูป รวมถึงวัสดุก่อสร้าง
       
       ทั้งนี้ตลาดใหม่ยังไม่สามารถทดแทนตลาดหลักเดิมได้ ทั้งนี้ แนะนำ ให้ผู้ส่งออกไทยจึงต้องเร่งปรับปรุงรูปแบบการทำธุรกิจในตลาดหลักที่เป็นตลาดเดิมด้วย และปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น สินค้าสำหรับผู้สูงอายุ สินค้าด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม ขณะเดียวกันต้องใส่ความริเริ่มสร้างสรรค์ลงในสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ และแตกต่างด้วย

 

                                                                 ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 9 มิถุนายน 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350