ค้นหา
ห้องข่าว

“เอสเอ็มอีแบงก์” เตรียม รี-แบรนด์ สร้างมิติใหม่องค์กร

“เอสเอ็มอีแบงก์” เผยนโยบายใหม่เน้นการทำงานเชิงรุกเป็นฝ่ายเข้าหาลูกค้า ส่งผล 5 เดือนแรกของปี 2552 พลิกโฉมทุกด้าน เตรียมยกเครื่องปรับภาพลักษณ์ทั้งองค์กร ตกแต่งสาขาใหม่ เครื่องแบบพนักงานใหม่ และอัดฉีดหลักสูตรบริการด้วยใจให้กับพนักงานสาขาทั่วประเทศในครึ่งปีหลัง 2552
       
       นายวิชญะ วิถีธรรม โฆษกคณะกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า นับตั้งต้นปี 2552 เป็นต้นมา คณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) ได้กำหนดนโยบายการทำงานให้กับฝ่ายจัดการด้วยการเน้นทำงานเชิงรุก เป็นฝ่ายเข้าหาลูกค้าไม่ใช่นั่งรอให้ลูกค้ามาพบเหมือนในอดีต ซึ่งขณะนี้พบว่า สินเชื่อ smePOWER เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว สินเชื่อ smePOWER เพื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน สินเชื่อ smePOWER ทั่วไป ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs เป็นจำนวนมาก
       
       โดยคณะกรรมการธนาคารมีนโยบายกำหนดให้ธนาคารจัดทำแผนปฏิบัติการสินเชื่อเชิงรุก 4 ภาค ภายใต้โครงการ “เปิดเมนูกู้วิกฤต SMEs” เพื่อจัดงานนัดพบผู้ประกอบการให้ยื่นคำขอสินเชื่อได้ในงาน พร้อมจัดบรรยายพิเศษ “ขั้นตอนการขอสินเชื่อกับธนาคาร” เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งได้จัดไปแล้วที่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ จะจัดที่ พัทยา จ.ชลบุรี ถัดไปจะจัดที่ จ.ขอนแก่น ในเดือน ก.ค. 52 นอกจากนี้ ธนาคารยังจัดงานในลักษณะกองทัพมด (Mini Event) เจาะรายพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายจัดการทำได้ดี โดยมียอดคำขอสินเชื่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดอนุมัติสินเชื่อใน 5 เดือนที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่อง นับเป็นการเดินมาถูกทางแล้วและทิศทางแนวโน้มของธนาคารมีสัญญาณที่ดีขึ้น
       
       ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 คณะกรรมการธนาคารจึงกำหนดนโยบายปรับโฉมภาพลักษณ์ใหม่ของเอสเอ็มอีแบงก์ (Re – Brand) เช่น ตกแต่งที่ทำการสาขา โดยมีสาขาต้นแบบ 8 แห่ง เช่นที่ สาขานครสวรรค์ และสาขาพิจิตร เปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานชาย-หญิงใหม่หมดให้เข้ากับบุคลิกของธนาคาร จัดโครงการอบรมพนักงานให้มี Service Mind ในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ การเตรียมระบบ Core Banking มาใช้ในการปฏิบัติงาน เป็นต้น
       
       ทั้งนี้ การปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่ จะเป็นการส่งสัญญาณภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น นอกจากจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการ หน่วยงาน สมาคม ชมรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ SMEs แล้ว ยังจะเห็นได้จากผลสำรวจสถานการณ์ SMEs ไทย ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยระบุว่าผู้ประกอบการ SMEs 96.4% ได้รับทราบโครงการช่วยเหลือของภาครัฐบาล ผ่านสินเชื่อ smePOWER ของธนาคาร ซึ่งบอร์ดรู้สึกพึงพอใจในระดับหนึ่ง ที่สังคมได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดให้นโยบายการความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ต้องเน้นความใกล้ชิด และจะเพิ่มความเข้มข้นต่อไป

                                                                 ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 8 มิถุนายน 2552


 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350