ค้นหา
ห้องข่าว

SME โคม่า!ยื้อ8เดือน"ปิดตาย" สับรัฐโยน"บสย."ค้ำสินเชื่อหลงทิศ

 เอสเอ็มอีใกล้สูญพันธุ์  70%  คาดมีลมหายใจได้แค่  8  เดือนเท่านั้นหากเศรษฐกิจยังทรุด  เผยส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่อง  แบงก์ปฏิเสธปล่อยกู้  หยันมาตรการรัฐให้  บสย.ค้ำสินเชื่อหลงทิศ   "ธนวรรธน์"  หวั่น  2.5  ล้านรายเจ๊ง  ฉุดเศรษฐกิจดิ่งหนัก  "โฆสิต"  เตือนสร้างหนี้เกินตัว  ย้ำจีดีพีโต  3%

     นางเสาวณีย์  ไทยรุ่งโรจน์  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยผลสำรวจผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวน  800  ราย  ช่วงวันที่  28  พ.ค.-2 มิ.ย.2552   ถึงสภาพธุรกิจ  พบว่าเอสเอ็มอี  69.4%  เห็นว่าจะประคองธุรกิจไปได้นานที่สุดเพียง  8  เดือนนับจากนี้ก่อนจะปิดกิจการ  หากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศยังไม่ดีขึ้น

     เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกระทบต่อยอดขายสินค้าอย่างมาก  แม้เอสเอ็มอี  19%  จะมองว่ายอดขายช่วงไตรมาส  2  จะเร่งตัวขึ้นเทียบไตรมาสแรกตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น  แต่  40.8%  ยังมองว่ายอดขายจะยังลดลง

     โดยเอสเอ็มอี  81.1%  ระบุว่าประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง  โดยในจำนวนนี้มี  54.6%   ที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อใช้เพิ่มสภาพคล่อง  แต่ติดปัญหาการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ  65%  และธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ  77.4%

     ขณะที่เอสเอ็มอีพึงพอใจต่อการแก้ไขปัญหาเอสเอ็มอีจากภาครัฐ  โดยเฉพาะการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม  (บสย.)  เพียง  4.99  คะแนน  จากเต็ม  10  คะแนน  โดย  51.7%  เห็นว่ารัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จต่อการผลักดันให้สถาบันการเงิน  โดยเฉพาะธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย  (ธพว.)  ปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี

     วันเดียวกัน  สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ  จัดงานสัมมนา  "ทางออกเอสเอ็มอีไทย  ก่อนล่มสลาย"   โดยนายปิยะ  ซอโสตถิกุล  ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่  ธนาคารกรุงเทพ  กล่าวว่า  การดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอีปีนี้จะเหนื่อยมาก  เพราะยอดขายสินค้าจะลดลง  ซึ่งต้องใช้เวลา  2-3  ปีก่อนจะปรับเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจ  แต่ไม่ถึงกับกิจการล่มสลาย  เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะต้องเข้ามาช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง

     "จากการจัดกลุ่มเสี่ยงหนี้เสีย  จะพบว่าภาคอุตสาหกรรมซึ่งแบงก์กรุงเทพมีลูกค้ากลุ่มนี้มาก  ยังมีกลุ่มท่องเที่ยว   ชิ้นส่วนรถยนต์  อิเล็กทรอนิกส์เสี่ยงสูงมากต้องระวัง  ที่เสี่ยงระดับกลางคือ  ค้าปลีก  เกษตร  แปรรูปอาหาร  บริการ  ซึ่งแบงก์พยายามเข้าไปช่วยเหลือให้เขาจ่ายชำระหนี้น้อยลง  เพื่อทำให้สถาพคล่องดีขึ้น"  นายปิยะระบุ

     นายธนวรรธน์  พลวิชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ  ม.หอการค้าไทย  กล่าวว่า  ปัญหาของไทยขณะนี้คือไม่รู้ปัญหาที่ชัดเจนของธุรกิจเอสเอ็มอี  ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างมากเพราะเอสเอ็มอีมีมากถึง  2.5  ล้านราย  มีเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า  3  ล้านล้านบาท  มีการจ้างงานกว่า  3  ล้านคน  หากประสบปัญหาจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

     นายโฆสิต  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  ประธานกรรมการบริหาร  ธนาคารกรุงเทพ  กล่าวในหัวข้อ  "บทบาทสถาบันการเงินกับวิกฤติเอสเอ็มอี"  ว่า  ปัญหาของเอสเอ็มอีเกิดกับกลุ่มที่มีสต็อกสินค้ามาก  และกลุ่มที่สภาพคล่องไม่เพียงพอ  ซึ่งสถาบันการเงินต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือ  แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องของหนี้สินให้อยู่ในระดับเหมาะสม  เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สินเกินตัวในอนาคต

     นายโฆสิตเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัว  3%  ขณะที่สินเชื่อรวมของธนาคารจะขยายตัวที่  3-5%

                                                             ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350