ค้นหา
ห้องข่าว

แบงก์กระเตงเอสเอ็มอีสู้วิกฤต

“โฆสิต” แนะสถาบันการเงินจะต้องเข้ามาร่วมกันทำงานกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มากขึ้น เพื่อช่วยผ่อนคลายเรื่องสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้จัดเสวนาหัวข้อเรื่อง "ทางออกเอสเอ็มอีไทยก่อนล่มสลาย" เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "บทบาทสถาบันการเงินกับวิกฤติเอสเอ็มอี" ว่า จากการที่ธนาคารได้เยี่ยมลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจทั่วประเทศไทย ทำให้รู้สึกเป็นห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการดังกล่าวจะมีธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ง่าย

ทั้งนี้ จากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกประเภท ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ธนาคารได้เดินทางไปพบนั้นก็จะมีหลายประเภทดังนี้คือ 1. ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง ไม่มีหนี้สินมากจนเป็นภาระได้ 2. ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมาก แต่ก็ยังมีรายได้เข้ามา เนื่องจากผู้ประกอบการมีความพยายามที่จะปรับตัวโดยวิธีการหารายได้อื่นๆมาทดแทน หรือชดเชยในส่วนที่หายไป อาทิ ผู้ประกอบการที่จำหน่ายรถยนต์ ก็จะเน้นให้มีบริการหลังการขายมากขึ้น หรือปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อจะเป็นส่วนเพิ่มรายได้ ขณะที่ผู้ประกอบการประเภทที่ 3. ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบไม่ได้เข้ามาแต่สามารถคุมรายจ่ายได้ เหมาะสม มีการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้า ทำให้ธุรกิจสามารถเดินได้ต่อเนื่อง แม้ว่ายอดขายจะลดลง 30-40%

"จากที่ธนาคารได้ทำการสำรวจจะพบว่า ปัญหาที่พวกเขากำลังประสบมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ทั้งเรื่องของกระแสเงินสด ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ตัวผู้ประกอบการเองมีการสต๊อกสินค้า ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ได้กลายเป็นภาระกับตัวผู้ประกอบการเอง ในขณะที่คู่ค้าของผู้ประกอบการมีการชำระค่าสินค้าล่าช้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับลดต้นทุนได้ทันกับระยะเวลาได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่จะต้องเข้ามาร่วมกันทำงานกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มากขึ้น เพื่อช่วยผ่อนคลายเรื่องสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ"

                                                                 ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 4 มิถุนายน 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350