ค้นหา
ห้องข่าว

แนะผปก.อาหารใช้วิกฤตไข้หวัดใหญ่ 2009 สร้างมาตรฐานดันยอดส่งออก

 สถาบันอาหารแนะผู้ประกอบการส่งออกอาหารไทยใช้วิกฤตไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นโอกาส กระตุ้นยอดส่งออก สุกรปรุงสุก ไก่ปรุงสุกและอาหารทะเล และเนื้อสุกรแช่แข็ง โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น หลังอุตสาหกรรมอาหารของไทยรับอานิสงส์จากกรณีที่หลายประเทศระงับการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ พร้อมทั้งควรสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน
       

       นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า จากผลกระทบของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2552 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าไม่ได้กระทบต่อการบริโภคสุกร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าดูจากยอดการจำหน่ายที่ไม่ได้ลดลง แม้ราคาจะเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น หากไทยสามารถใช้วิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก จากสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นโอกาสให้การส่งออกอาหารของไทยบางชนิดเพิ่มขึ้น คือ สุกรปรุงสุก, ไก่ปรุงสุกและอาหารทะเล และเนื้อสุกรแช่แข็ง
       
       สำหรับผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรที่สำคัญของโลก เช่น ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหภาพยุโรป ต่างหาผู้ผลิตเนื้อสุกรใหม่ทดแทนกลุ่มเดิม คือ สหรัฐฯ และเม็กซิโก ซึ่งมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ฯ ดังนั้น น่าจะเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกเนื้อสุกรปรุงสุกไปยังตลาดญี่ปุ่น รัสเซีย และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น
       
       ส่วนไก่ปรุงสุกและอาหารทะเล ผลกระทบเชิงจิตวิทยาจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ฯ จะส่งในเชิงบวกต่อการส่งออกอาหารทะเลและไก่ปรุงสุก เนื่องจากมีผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งขาดความเชื่อมั่นที่จะบริโภคเนื้อสุกร คนกลุ่มนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหันไปบริโภคเนื้อไก่หรืออาหารทะเลทดแทนเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งผู้ส่งออกอาหารทะเลและไก่ปรุงสุกจากไทยก็จะได้อานิสงส์นี้ไปด้วย
       
       ในส่วนของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักของการส่งออกกุ้งไทย หากความต้องการเนื้อสุกรลดลง มีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะหันมาบริโภคกุ้งและปลาทูน่ากระป๋องแทน เนื่องจากเป็นอาหารทะเลที่มีความปลอดภัยที่สุดในขณะนี้ รวมทั้งตลาดสหรัฐฯ ให้ความเชื่อมั่นในคุณภาพกุ้งไทยไว้สูงมาก การขยายตลาดกุ้งในช่วงนี้จึงมีความเป็นไปได้สูง ในขณะที่เนื้อสุกรแช่แข็ง แม้ว่าฮ่องกงจะเป็นตลาดการส่งออกเนื้อสุกรแช่แข็งอันดับหนึ่งของไทย แต่เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดเนื้อสุกรแช่แข็งของไทยในฮ่องกง พบว่าไทยมีส่วนแบ่งตลาดน้อยมากเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น
       
       โดยแหล่งนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งที่สำคัญของฮ่องกง คือ บราซิล ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งร้อยละ 28 ของมูลค่าการนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งทั้งหมด รองลงมาเป็นจีน และสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26 และ 16 ตามลำดับ ดังนั้น หากฮ่องกงมีระงับการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ คาดว่าฮ่องกงน่าจะหันไปนำเข้าจากบราซิล และประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป (เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์) ทดแทน เนื่องจากในปีที่ผ่านมาการนำเข้าเนื้อสุกรจากทั้งสองแหล่งนี้ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง ดังนั้น ไทยไม่น่าจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเนื้อสุกรแช่แข็งในฮ่องกงได้มากนัก
       
       ผอ.สถาบันอาหาร กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ฯ นับว่าเป็นสถานการณ์ร้ายแรงทางด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารของไทยอาจได้รับอานิสงส์บ้างจากกรณีที่หลายประเทศระงับการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น แต่อานิสงส์ที่จะได้รับนั้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของคนญี่ปุ่น โดยในกรณีที่คนญี่ปุ่นยังเลือกที่จะบริโภคเนื้อสุกรต่อไปก็เป็นโอกาสส่งออกเนื้อสุกรปรุงสุกไปยังตลาดญี่ปุ่น ซึ่งผู้ประกอบการที่จะได้อานิสงส์นั้นจะเป็นผู้ส่งออกที่ผ่านการตรวจสอบทางด้านสุขอนามัยจากญี่ปุ่น และเป็นผู้ส่งออกที่ส่งออกเนื้อสุกรปรุงสุกไปญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องเผชิญกับข้อจำกัด คือ การขยายปริมาณการผลิตของไทยอาจจะไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
       
       สำหรับอีกกรณีที่คนญี่ปุ่นไม่เชื่อมั่นที่จะบริโภคเนื้อสุกร รวมทั้งมีแนวโน้มว่าราคาเนื้อสุกรในญี่ปุ่นมีแนวโน้มแพงขึ้น คนญี่ปุ่นอาจหันไปบริโภคอาหารทะเลหรือเนื้อไก่ทดแทนเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งผู้ส่งออกอาหารทะเลและไก่ปรุงสุกจากไทยก็จะได้อานิสงส์นี้ไป ซึ่งตลาดญี่ปุ่นรู้จักและยอมรับอาหารทะเลและไก่ปรุงสุกจากไทยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว สำหรับตลาดสหรัฐฯ ยอดการส่งออกอาหารทะเลของไทยน่าจะเพิ่มขึ้นบ้างเนื่องจากผู้บริโภคลดการบริโภคเนื้อสุกรแล้วหันมาบริโภคอาหารทะเลแทน

                                                                ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 2 มิถุนายน 2552


 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350