ค้นหา
ห้องข่าว

ตามคาดดัชนีเชื่อมั่น SMEs เม.ย. ลดลงทั้งปัจจุบัน และคาดการณ์

    สสว. เผยดัชนี TSSI SMEs ประจำเดือนเมษายน ลดลงทั้งปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าเป็น 40.4 และ 41.1 และเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ โดยมีค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และบริการโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ บังกะโล เป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีลดลงมากที่สุด สาเหตุสำคัญมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงกลางเดือนเมษายน ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
       
       นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนเมษายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 40.4 จากระดับ 41.6 ซึ่งเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 40.1 39.8 และ 41.1 จากระดับ 41.7 40.5 และ 42.7 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 32.1 จาก 34.7 ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 24.4 จาก 22.1
       
       “จากผลการสำรวจในเดือนเมษายน พบว่า สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนีปัจจุบันเกือบทุกธุรกิจที่ทำการสำรวจปรับตัวลดลง มีผลมาจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงกลางเดือนเมษายน ประกอบกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลทั้งต่อต้นทุนการประกอบการและค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และบริการโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ บังกะโล นับเป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีลดลงในระดับสูง” นายภักดิ์ กล่าว
       
       โดยเมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 39.7 จากระดับ 44.6 (ลดลง 5.0) ภาคการค้าปลีก กิจการค้าปลีกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 39.3 จากระดับ 42.0 (ลดลง 2.7) ทั้งนี้นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การเพิ่มความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ก็เป็นอุปสรรคต่อการเช่าซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค
       
       ในส่วนภาคบริการ กิจการโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ บังกะโล ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 43.2 จากระดับ 46.3 (ลดลง 3.1) ซึ่งผลจากความรุนแรงทางการเมืองในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ประกอบกับการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้สถานการณ์การท่องเที่ยวไม่คึกคักทั้งที่อยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว เห็นได้จากอัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยตลอดไตรมาสมีเพียงร้อยละ 34.4 ซึ่งลดลงอย่างมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยตลอดไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 67.8
       
       ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 41.1 จากระดับ 43.5 และเป็นการลดลงทุกประเภทกิจการ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 42.4 40.4 และ 41.3 จากระดับ 44.6 42.4 และ 44.1 ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 30.6 จากระดับ 32.9 ส่วนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีทรงตัวอยู่ที่ 30.3
       
       สำหรับดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการรายภูมิภาค 5 ภูมิภาค ในเดือนเมษายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีลดลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 37.2 จากระดับ 42.3 (ลดลง 5.1) รองลงมาคือภาคใต้ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 48.1 จากระดับ 51.2 (ลดลง 3.1) และ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 37.6 จากระดับ 39.0 (ลดลง 1.4) ขณะที่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30.6 จากระดับ 28.4 (เพิ่มขึ้น 2.2) และภาคเหนือ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 43.2 จากระดับ 41.0 (เพิ่มขึ้น 2.2)
       
       “ค่าดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในปัจจุบันและคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อว่าปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อกิจการในระดับสูงที่สุด ได้แก่ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจประเทศ และอำนาจซื้อของประชาชน รองลงมา ได้แก่ การหดตัวของความต้องการสินค้าและบริการ ภาวะการแข่งขันในตลาด รวมทั้งต้นทุนสินค้าและค่าแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น แต่ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ไม่ว่าจะเป็น โครงการเช็คช่วยชาติ โครงการช่วยเหลือเงินยังชีพคนชรา รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประเทศในระยะนี้ได้บ้าง

                                                                 ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 1 มิถุนายน 2552


 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350