ค้นหา
ห้องข่าว

‘เอสเอ็มอีแบงก์’ ทุ่ม 400 ลบ. ชุบชีวิตท่องเที่ยวเชียงใหม่

เอสเอ็มอีแบงก์ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เร่งปล่อยกู้ตามโครงการเมนูกู้วิกฤตเอสเอ็มอี ชุบชีวิตธุรกิจท่องเที่ยว ระบุผลงาน 1 เดือนปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท พร้อมสำรองปล่อยอีกกว่า 400 ล้าน จากวงเงินกู้ท่องเที่ยวทั่วประเทศ 1,900 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลล่าสุดเพิ่มขึ้น 1%
       
       นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาสถานการณ์ด้านการเมือง ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ขาดสภาพคล่อง โดยมีโรงแรมหลายแห่งมีแผนที่จะประกาศขายกิจการ ดังนั้น ธนาคารจึงได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวภาคเหนือ เริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นแห่งแรก ซึ่งมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวสนใจมาร่วมงานกว่า 500 ราย โดยธนาคารได้อนุมัติการปล่อยกู้ไป เป็นจำนวนเงินกว่า 100 ล้านบาท โดยส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ธนาคารตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถปล่อยกู้ได้ถึง 300 - 400 ล้านบาท จากวงเงินกู้ที่ธนาคารเตรียมไว้เพื่อการท่องเที่ยวจำนวน 1,900 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3-4 เดือน
       
       นายโสฬส ระบุว่า ธุรกิจท่องเที่ยวนับเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้สำคัญแก่ประเทศ จึงต้องให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เมนูกู้วิกฤต SMEs ของธนาคารมีสินเชื่อหลากหลายผลิตภัณฑ์นำเสนอให้ผู้ประกอบการSMEs เลือกใช้บริการทั้งสินเชื่อโครงการ smePOWER เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว อัตราดอกเบี้ย MLR-3% ใน 1-2 ปี เงื่อนไขผ่อนปรน และสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 5% ต่อปี สินเชื่อ smePOWER สินเชื่อแฟคเตอริ่ง ลิสซิ่ง สินเชื่อทั่วไป ฯลฯ โดยธนาคารจะพิจารณาว่าเข้ากับสินเชื่อประเภทใด
       
       สำหรับการจัดงานเปิดเมนูกู้วิกฤต SMEs ที่จังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆภายในจังหวัดเชียงใหม่ โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัด นำเงินจำนวน 500 ล้านบาท เป็นเงินฝากมามอบให้แก่ธนาคารเพื่อนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป
       
       ในส่วนของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการปล่อยกู้ในครั้งนี้ ทางธนาคารมองว่าไม่น่าจะเพิ่มจากเดิม ซึ่งเดิมธนาคารมีเอ็นพีแอลสูงอยู่แล้ว และเนื่องจากการปล่อยกู้ครั้งนี้ เป็นการปล่อยกู้ในช่วงวิกฤต ซึ่งต่อไปเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น ต่างจากในอดีตที่เป็นการปล่อยกู้ในช่วงที่เศรษฐกิจดี เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ก็เกิดเอ็นพีแอลจำนวนมาก โดยเอ็นพีแอลล่าสุดของธนาคาร เพิ่มขึ้นประมาณ 1% จากยอดการปล่อยกู้ทั้งหมด 9,000 ล้านบาท

                                                             ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 พฤษภาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350