ค้นหา
ห้องข่าว

สถาบันอาหารแนะผปก.เจาะตลาดไฮเอ็นในรัสเซียหนีการแข่งขัน

สถาบันอาหาร” ระบุ รัสเซีย ตลาดใหม่น่าสนใจ มีการนำเข้าสินค้าอาหาร โดยเฉพาะข้าว ผักผลไม้สด อาหารทะเลสด และอาหารแปรรูปถึงร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม รัสเซียเน้นสินค้าราคาถูก ส่งผลให้สินค้าอาหารของไทยต้องแข่งกับสินค้าจากหลายประเทศโดยเฉพาะจีนและประเทศในยุโรป แนะผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอาหารไทยเจาะตลาดรัสเซียด้วยการสร้างภาพลักษณ์คุณภาพสินค้า ความเป็นสากล และคำนึงถึงมาตรฐานอาหารปลอดภัย มุ่งจับกลุ่มบริโภคที่มีกำลังซื้อสูงในรัสเซีย
       
       นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้มุ่งเน้นการขยายตลาดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ๆ เพื่อเป็นการลดการพึ่งพิงตลาดหลักเดิมที่เริ่มมีแนวโน้มความต้องการที่อิ่มตัว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เช่น จีน อินเดีย และรัสเซีย โดยเฉพาะตลาดรัสเซียถือได้ว่าเป็นตลาดใหม่ที่ประเทศไทยให้ความสนใจอย่างสูง เนื่องจากเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้าอาหารถึงกว่าร้อยละ 50 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศรัสเซียเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของผู้บริโภคในประเทศรัสเซียเพิ่มสูงขึ้นตามมา
       
       ทั้งนี้ ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภค รัสเซียจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งยังเป็นช่องว่างอีกมากสำหรับสินค้าอาหารจากประเทศไทย เพราะประเทศรัสเซียไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ โดยในปี 2550 รัสเซียนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารประมาณ 23,921 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 27.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
       
       กลุ่มสินค้าอาหารนำเข้าที่สำคัญของรัสเซีย ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้สด อาหารทะเลสด และอาหารแปรรูป ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยบางรายสามารถนำสินค้าเข้าไปตีตลาดได้แล้ว โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่มีวางจำหน่ายอยู่ที่ตลาดสดและซุปเปอร์มาเกตระดับบน ราคาอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อลูก และผลไม้อื่นๆ ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน อาทิ สับปะรด กล้วย มะม่วง และทับทิม เป็นต้น และในส่วนของผักที่นิยมบริโภค ได้แก่ มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ ผักกาด แตงกวา และมันฝรั่ง ทั้งนี้สินค้าอีกประเภทที่ประเทศไทยมีโอกาสในตลาดรัสเซีย คือ ข้าว เนื่องจากปัจจุบันปริมาณการบริโภคข้าวของชาวรัสเซียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
       นอกจากนี้ รัสเซียยังมีความต้องการนำเข้าอาหารแปรรูปทั้งในแบบบรรจุกระป๋อง แช่แข็ง และพร้อมรับประทานโดยมีมูลค่าการนำเข้ารวมกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี โดยส่วนใหญ่จะนำเข้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก รัสเซียนำเข้าสินค้าอาหารแปรูปจากไทยประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี สินค้าที่สำคัญได้แก่ อาหารกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวานกระป๋อง เครื่องเทศ อาหารแปรรูปแช่แข็ง ต้มยำกุ้ง ข้าวผัด และผัดไทยแช่แข็ง เป็นต้น
       
       อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา โลกได้ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและประเทศรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันกลับมาให้ความสำคัญกับราคามากกว่าคุณภาพของสินค้า ซึ่งแตกต่างจากลักษณะของการบริโภคในช่วงต้นปี 2551 ที่จะเน้นบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและมีราคาแพง
        
       ดังนั้นในปัจจุบัน สินค้าอาหารที่เป็นที่นิยมของตลาดรัสเซียคือสินค้าพื้นฐานที่ราคาไม่แพงนัก เช่น สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าข้าวแปรรูป เช่น ข้าวปรุงรสกึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารเช้าสำเร็จรูปที่มีข้าวเป็นส่วนประกอบ และสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดอาหารของรัสเซียภายใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีอัตราการเติบโตค่อนข้างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2552 ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของรัสเซียในปัจจุบันกว่าร้อยละ 80 เป็นสินค้าจากผู้ผลิตเกาหลีใต้
       
       ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวอีกว่า ภายใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน โอกาสในการรุกเพื่อเข้าตลาดรัสเซียอาจดูเหมือนเป็นไปได้ยาก เนื่องจากลักษณะตลาดที่เน้นสินค้าราคาถูก ซึ่งจะทำให้สินค้าอาหารของไทยต้องแข่งกับสินค้าจากหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน และประเทศในยุโรปที่ได้เปรียบในเชิงทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้รัสเซีย สะดวกแก่การติดต่อการค้าและการขนส่ง และมีการพัฒนาในด้านโลจิสติกส์ที่ก้าวหน้าและมีความเชี่ยวชาญในภาคการเงินและการค้ากับรัสเซีย แต่
        
       อย่างไรก็ดี สินค้าอาหารจากประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้บริโภครัสเซีย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เคยมาเที่ยวที่ประเทศไทยซึ่งเคยกินอาหารไทยมาก่อน ผู้ส่งออกไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ด้านคุณภาพสินค้า สร้างความเป็นสากลและใช้กลยุทธ์การตลาดให้มากขึ้น โดยควรมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์คุณภาพ มาตรฐานด้านสุขอนามัย การปลอดสารพิษอันตราย และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
       
       นอกจากนั้น ประเทศรัสเซียยังถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพอันดับต้นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตด้วยการส่งออกน้ำมัน สินค้าพลังงาน แร่ธาตุ รวมถึงสินค้าอาวุธยุทธปัจจัย ซึ่งทำให้ยังคงมีกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงอยู่จำนวนหนึ่ง โดยตลาดกลุ่มนี้จะมุ่งเน้นบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพสูง และปัจจัยด้านราคาไม่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคนัก ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยน่าจะสามารถเจาะตลาดเข้าไปได้

                                                             ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350