ค้นหา
ห้องข่าว

สสว.หนุนเลี้ยงไก่เบตหวังเพิ่มรายได้3จ.ชายแดนใต้

สสว. จับมือ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน เดินหน้าคัดเลือกผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงไก่เบตง หวังใช้เป็นต้นแบบการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไก่เบตงครบวงจรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมสร้างอำนาจต่อรองผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการ
       
       นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่ สสว. ได้ร่วมกับ เทศบาลเมืองเบตง จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไก่เบตงครบวงจรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไก่เบตงในเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร
       
       ขณะเดียวกัน เพื่อร่วมพัฒนาและให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจัดการฟาร์มที่ถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีตามสายพันธุ์ที่แท้จริงของไก่เบตง และช่วยสร้างช่องทางการในการกระจายสินค้าที่ท้องถิ่นผลิตได้ไปสู่ตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้กับผู้ประกอบการได้ทางหนึ่ง
        
       “ไก่สายพันธุ์เบตง เป็นไก่พื้นเมืองที่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในพื้นที่ภาคใต้ กรุงเทพฯ และในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย แต่ปัญหาที่ผู้ประกอบการเลี้ยงไก่กำลังประสบอยู่ นอกเหนือจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ก็คือ การขาดลูกไก่เบตงพันธุ์ดี ขาดความรู้ในการจัดการฟาร์ม และความรู้ในการเลี้ยงไก่เบตงเชิงพาณิชย์ ทำให้ขนาดและคุณภาพของไก่ไม่คงที่ ไม่อยู่ในระดับที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงทำให้ร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆ ไม่สามารถบรรจุในเมนูของตนได้” นายภักดิ์ กล่าว
       
       การดำเนินการดังกล่าว สสว.จะให้การสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ไก่ ให้ความรู้กระบวนการเลี้ยงและการจัดการฟาร์ม การแปรรูป ไปจนถึงการตลาด
       
       อย่างไรก็ตาม ทางสสว. เชื่อมั่นว่า การดำเนินงานดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้จากการเลี้ยงไก่เพียง 300 ตัว ถึง 25,000 บาท/รอบการเลี้ยง หรือ 5,000 บาท/เดือน ขณะเดียวกัน ยังเป็นการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงสัตว์พื้นเมืองที่มีอยู่ในชุมชน โดยต่อยอดเป็นสินค้าส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน ที่สำคัญยังช่วยบรรเทาความเดือนร้อนซึ่งได้รับผลกระทบมาจากความไม่สงบในพื้นที่ด้วย

                                                             ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 พฤษภาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350