ค้นหา
ห้องข่าว

ซิป้าเปิดทางเอสเอ็มอีให้ทุนหนุนซอฟต์แวร์

ซิป้าเปิดช่องผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม-ประชาชนทั่วไป ที่มีแนวคิดในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์แต่ขาดเงินทุน ด้วยการให้ทุนสนับสนุนแบบให้เปล่า

นายธวัชชัย โคตรวงษ์ ตัวแทนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า สาขาขอนแก่น เปิดเผยว่า ซิป้ามีโครงการการให้ทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยเปิดโอกาสให้นิติบุคคล บุคคลทั่วไป รวมทั้งสถานศึกษาได้ขอทุนเพื่อสนับสนุน รวมทั้งโครงการการเข้าร่วมทุนกับบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นของซิป้า ในการให้ทุนและร่วมทุนของซิป้านั้น เนื่องจากซิป้ามองว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ขาดแคลนแหล่งเงินทุน แต่มีแนวคิดที่ดีในการที่จะพัฒนาหรือต่อยอดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เช่น ผู้ประกอบการที่มีความสนใจที่จะยกระดับความรู้ทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และต้องการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากในหรือต่างประเทศมาฝึกอบรมให้ความรู้ให้กับบุคลากรในองค์กร ทางซิป้าก็จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ เป็นต้น

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมหรือโครงการที่ซิป้าให้ทุนสนับสนุนครอบคลุม 6 ด้าน คือ การตลาดที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์, การพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์, การศึกษาค้นคว้า และวิจัยหรือการถ่ายทอด, เทคโนโลยี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดทำเกณฑ์ปฏิบัติหรือมาตรฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และกิจกรรมหรือโครงการที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งการให้ทุนนี้ หากของบประมาณไม่เกิน 200,000 บาท/โครงการ ผอ.ซิป้าจะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน แต่ถ้าหากวงเงินเกินกว่า 200,000 บาท จะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการซิป้า (บอร์ด)

ส่วนโครงการร่วมทุน จะต้องเป็นกิจการหรือโครงการประเภทซอฟต์แวร์ เช่น เอ็นเตอร์ไพรส์ซอฟต์แวร์ โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์, กิจการหรือโครงการพัฒนาประเภทเกม เช่น เกมออนไลน์ โมบายเกม และกิจการหรือโครงการดิจิทัล คอนเทนท์ เช่น แอนิเมชัน อี-เลิร์นนิ่ง เป็นต้น ซึ่งโครงการร่วมทุนนี้ทางซิป้าได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 10% จากงบที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลทั้งหมดในปีงบประมาณ 2552 หรือประมาณ 30 ล้านบาทในการจัดทำโครงการร่วมทุน ซึ่งหากผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งในการทำธุรกิจ ก็สามารถทยอยคืนเงินหรือคืนทุนในครั้งเดียวก็ได้

"โครงการให้ทุนและร่วมทุน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการชี้แจงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจจะพัฒนาและต่อยอดทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยโครงการนี้จะเปิดรับถึงสิ้นปีงบประมาณ 2552 นี้ ซึ่งในส่วนของภาคอีสาน คาดว่าจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ประมาณ 3-5 ราย เนื่องจากแต่ละโครงการต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณอยู่บ้าง" นายธวัชชัย ระบุ

                                                     ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 พฤษภาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350