ค้นหา
ห้องข่าว

แบงก์ส่งบสย.ค้ำลูกหนี้ SMEอ่วมหันกู้นอกระบบ

แบงก์ทยอยส่งลูกค้าเอสเอ็มอีให้  บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ  เหตุขาดสภาพคล่อง   หลักประกันไม่พอกู้เงิน  สสว.เผยกว่า  1.4  ล้านรายถูกสกัด  หันกู้นอกระบบแทน

     นายปิยะ  ซอโสตถิกุล  ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่  ธนาคารกรุงเทพ  เปิดเผยว่า  ธนาคารได้เริ่มส่งลูกค้าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อม  (เอสเอ็มอี)  เข้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อในวงเงิน   30,000  ล้านบาทกับ  บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม  (บสย.)   แล้วประมาณ  9  ราย  วงเงินรวม  24  ล้านบาท  และอยู่ระหว่างคัดเลือกลูกค้าอีกจำนวนหนึ่งเพื่อเข้าโครงการนี้

     "ลูกค้าที่เข้าข่ายการค้ำประกันสินเชื่อ  ส่วนใหญ่มีหลักประกันสินเชื่อไม่เพียงพอต่อวงเงินที่ขอกู้ยืม  ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องการเงินจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้  แต่ธนาคารจะไม่ส่งลูกค้าที่เป็นหนี้เสียเข้าโครงการนี้  เพราะถือว่าเข้าข่ายความเสี่ยงที่สูงมากที่ธุรกิจจะไปไม่รอด"  นายปิยะกล่าว

     ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อประเภทนี้เติบโตจากปีก่อน  0-3%  หรือมูลค่า  10,000  ล้านบาท  จากฐานที่มี  300,000  ล้านบาท

     นายปกรณ์  พรรธนะแพทย์  รองกรรมการผู้จัดการ  ธนาคารกสิกรไทย  กล่าวว่า  ธนาคารอยู่ระหว่างปรับฐานข้อมูลและคัดกรองลูกค้าเอสเอ็มอีเข้าโครงการการค้ำประกันสินเชื่อ   โดยจะเน้นลูกค้าที่มีมูลค่าหลักประกันต่ำกว่าวงเงินสินเชื่อ  คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน  พ.ค.นี้  และจะเริ่มทยอยส่งลูกค้าไปยัง  บสย.ตั้งแต่เดือน  มิ.ย.เป็นต้นไป

     ปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีโต   7-9%   หรือเพิ่มขึ้นเป็น  380,000  ล้านบาท  จาก   350,000  ล้านบาท  เมื่อสิ้นปี  2551

     นายภักดิ์  ทองส้ม  รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  (สสว.)  กล่าวว่า  ปัจจุบันมีธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า  1.44  ล้านราย  หรือ  60%  ของเอสเอ็มอี  ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านสถาบันการเงินได้  เนื่องจากปัญหาหลักทรัพย์ค้ำประกัน  รวมถึงแผนโครงการและงบการเงินไม่ชัดเจน  ส่งผลให้หลายรายต้องหันไปกู้เงินนอกระบบในอัตราดอกเบี้ยสูง  ยืมเงินจากญาติพี่น้อง  กู้เงินกองทุนหมู่บ้านและสหกรณ์  เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด  จึงอยากเสนอให้  บสย.ค้ำประกันสินเชื่อแก่ธุรกิจรายเล็ก  100%  จากเดิมค้ำประกันไม่เกิน  50%  ของสินเชื่อที่ขอ

                                                        ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350