ค้นหา
ห้องข่าว

ปูนใหญ่เดี้ยงสูญ7หมื่นล้าน ลูกจ้างหนีกลับบ้านนอกทำนา SMEรุมสินเชื่อทะลุ3หมื่นล้าน

"ปูนใหญ่"  อาการหนัก  ยอดขายทั้งปีทรุดแน่  25%  จากเดิมตั้งเป้าวูบแค่  10%  สูญกว่า  7  หมื่นล้าน  เจอธุรกิจ  "ปิโตรเคมี-กระดาษ"  ตัวฉุด  สอท.เผยออเดอร์อุตสาหกรรมยังหดต่อเนื่องอีก  30%  ดัชนีติดลบไม่หยุด  ลูกจ้าง  2  หมื่นหนีกลับบ้านนอกทำนา  อ่วมเงินเดือนไม่พอกินโดนตัดโอทีเกลี้ยง  ด้านแบงก์ชาติคาดเอสเอ็มอีแห่ขอค้ำประกันสินเชื่อ  บสย.ทะลุ  3  หมื่นล้าน

     นายกานต์  ตระกูลฮุน  กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท  ปูนซิเมนต์ไทย  จำกัด  (มหาชน)  เปิดเผยว่า  ยอดขายรวมทั้งปี  2552  แนวโน้มลดลง  20-25%  จากปีก่อนอยู่ที่  2.9  แสนล้านบาท  เนื่องจากช่วงไตรมาส  1  มียอดขายรวม  5.5  หมื่นล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  30%  เพราะราคาขายผลิตภัณฑ์ของธุรกิจเคมีภัณฑ์และธุรกิจกระดาษลดลง  แต่ยังหวังยอดขายไตรมาส  4  จะกลับมาฟื้นอีกครั้ง  โดยเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี  โดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว  นอกจากนี้  หากการเมืองนิ่งก็จะทำให้ความเชื่อมั่นดีขึ้น  และล่าสุดมีข่าวไข้หวัดเม็กซิโกยิ่งตอกย้ำภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น

     ทั้งนี้  ยอดขายรวมของธุรกิจกลุ่มปิโตรเคมีช่วงไตรมาส  1  อยู่ที่  21,591  ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  42%  แต่มีกำไรสุทธิ  2,478  ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน  สต็อก,  ธุรกิจกระดาษ  มียอดขาย  9,691  ล้านบาท  ลดลง  21%  เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่อิงการส่งออกเป็นหลัก  ส่วนธุรกิจกลุ่มซีเมนต์  12,373  ล้านบาท  ลดลง  3%  เพราะปริมาณขายภายในประเทศและการส่งออกลดลง

     นายพยุงศักดิ์   ชาติสุทธิผล   รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (สอท.)  กล่าวว่า  ปัจจุบันแรงงานกว่า  1-2  หมื่นคน  ได้ลาออกจากงาน  เพราะผู้ประกอบการลดเวลาทำงานล่วงเวลา   (โอที)  ลดเงินเดือนและลดวันทำงานตามคำสั่งซื้อที่ลดลงเฉลี่ย  30%  ส่วนใหญ่เป็นภาคชิ้นส่วนยานยนต์  สิ่งทอ  เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  เนื่องจากรายได้จากค่าโอทีของพนักงานมากกว่าเงินเดือนประจำ  ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในภาวะค่าครองชีพสูง   ทั้งค่าเช่าบ้าน  อาหาร  ค่าเลี้ยงดูบุตร  เบื้องต้นผู้ลาออกหลายรายกลับไปทำไร่ทำนาในต่างจังหวัด

     อย่างไรก็ตาม  หลายบริษัทช่วยเหลือแรงงานจำนวนมาก  โดยชะลอการเลิกจ้าง  แต่อีกจำนวนมากจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อประคองธุรกิจ  เบื้องต้นอยากให้ผู้ประกอบการที่ยังมีกำลังทรัพย์หรือสภาพคล่องไม่ทอดทิ้งแรงงานเหมือนบริษัทจากญี่ปุ่นที่ดูแลพนักงานอย่างเต็มที่

     ด้านนายอาทิตย์  วุฒิคะโร  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  (สศอ.)  กล่าวว่า  ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน  มี.ค.52  ยังติดลบ  17.74%  แต่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นเดือนที่  2  เทียบเดือน  ม.ค.ติดลบ  25.6%  และส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน  มี.ค.อยู่ที่  54.46%  เพิ่มขึ้นจากเดือน  ก.พ.อยู่ที่  50% 

     สำหรับไตรมาส  2  คาดอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น  เพราะลูกค้าเริ่มสั่งซื้อสินค้าต่อเนื่อง  รวมทั้งปริมาณสินค้าคงคลังในหลายอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ต่ำทำให้หลายอุตสาหกรรมเริ่มผลิต  เพื่อรักษาสภาพสินค้าคงคลัง

     นายสรสิทธิ์  สุนทรเกศ  ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.)  กล่าวว่า  ผลการสำรวจไม่เป็นทางการของ  ธปท.ต่อความต้องการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม  (เอสเอ็มอี)  ผ่านธนาคารพาณิชย์ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม  (บสย.)  เบื้องต้นคาดว่าความต้องการสูงกว่าวงเงินรวมที่ตั้งไว้  30,000  ล้านบาท  ซึ่ง  ธปท.อาจเข้าหารือกับรัฐบาลเพื่อขยายวงเงินค้ำประกัน

     นอกจากนั้น  ธปท.ต้องขอความชัดเจนจากรัฐบาล  โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับอนุมัติวงเงินเมื่อใด  ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการอยู่ระหว่างจัดกลุ่มลูกค้าเพื่อเสนอ  บสย.ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือน  พ.ค.ยอดการขอค้ำประกันสินเชื่อจะสูงขึ้น  เมื่อเทียบกับเดือน  เม.ย.ที่มีธนาคารกรุงเทพเพียงแห่งเดียวที่ยื่นรายชื่อลูกค้ามา

                                                           ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 30 เมษายน 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350