ค้นหา
ห้องข่าว

ปัญหาท่วมเอสเอ็มอี การตลาด-ฐานะอ่อนแอ ต้องสะสางไม่ต่ำกว่า2ปี

SMEsไทย ยังคงกังวลทั้งปัจจัยเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางการเมือง พฤติกรรมผู้บริโภค ชี้ปัญหา ยังต้องแก้ไขต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 ปี กดดันจีดีพีSMEs ลดลง 2%อาจทำให้คนตกงาน 2.5 แสนคน สสว. เล็งช่วยเหลือประคองไม่ให้ปิดกิจการเพิ่ม

นายภักดิ์ ทองส้ม รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)แถลงผลสำรวจผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี(เอสเอ็มอี)ทั่วประเทศว่า ปี2552 ธุรกิจเอสเอ็มอีมีการจ้างงาน 8.91 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 2.5 แสนรายหรือ 2.7% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความวุ่นวายทางการเมือง และนโยบายการลดแลกแจกแถมของห้างสรรพสินค้า เพื่อแย่งลูกค้า ส่งผลให้ธุรกิจหลายรายต้องปิดกิจการ เนื่องจากผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าราคาถูก สสว.จำเป็นต้องเร่งเข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิด เพื่อประคองให้ธุรกิจอยู่รอดไปได้

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เลิกจ้างงานมากและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หนังและผลิตภัณฑ์หนัง ผลิตภัณฑ์พลาสติก แก้วและเซรามิก เฟอร์นิเจอร์ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์ยางเหล็ก โลหะ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และบริการเสริมสุขภาพ สปา ส่วนสาขาที่โดดเด่นและมีแนวโน้มการจ้างงานเพิ่ม เช่น สิ่งพิมพ์ เนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม ยา สมุนไพรและเวชภัณฑ์ ขนมอบกรอบ พลังงาน เคมีภัณฑ์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทเส้น

สำหรับข้อมูลเพิ่งสำรวจล่าสุด คาดว่า มีผู้ประกอบการSMEs 2.4 ล้านราย ปรับลดลง 0.06% การส่งออกของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 1.58 ล้านล้านบาท ลดลง 6.41% รายได้สุทธิ 5.78 ล้านล้านบาท ลดลง 2.33% กำไรสุทธิ 2.29 แสนล้านบาท ลดลง 8.51% อัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงาน 3.98% ความสามารถในการชำระหนี้ปรับลดลงจาก 2.74% เหลือเพียง 2.59%

"นี่เป็นผลสำรวจวันที่ 24 เมษษยน 52 ยอมรับว่า ไทยมีปัญหารุมล้อมหลายปัจจัย ทำให้รายได้และกำไรสุทธิลดลง รวมถึงความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย คาดว่าต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีแต่ปริมาณการว่างงานที่ลดลง ไม่ถือว่าน่าเป็นห่วงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ"

นอกจากนี้ สสว.ยังได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาประจำภูมิภาคสำรวจผู้ประกอบการพบว่า ธุรกิจเอสเอ็มอี ยังมีฐานะน่าเป็นห่วง แม้ภาครัฐจะเริ่มเข้ามาช่วยเหลือบ้างแล้วก็ตาม แต่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 ปี เพราะผลจากความอ่อนแอทั้งการตลาด การดำเนินงาน การผลิต เทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และการเงิน เป็นปัญหาที่มีอยู่เดิมมานานแล้ว

ปัจจัยที่เอสเอ็มอีกังวลมากที่สุดคือเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน ความเชื่อมั่น และความสามารถในการส่งออก รองลงมากังวลต่อการเมืองเนื่องจากได้สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่น การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ ส่วนที่เหลือกังวลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ส่งผลให้คนไทย หันมาเก็บออมแทนการบริโภค ปัจจัยเศรษฐกิจโลกและ การแข่งขันภายในประเทศ

นายภักดิ์ กล่าวว่า เอสเอ็มอีไทยยังพอมีโอกาสขยายตัวได้ เพราะมีศักยภาพในการขยายตลาดใหม่ โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการของผู้บริโภคและความพร้อมของทรัพยากรสูง ดังนั้นเพื่อเป็นการขยายโอกาสของเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดอาเซียน สสว.จึงได้จัดทำแผนปฎิบัติการส่งเสริมเอสเอ็มอีปี 52 โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการในการศึกษาความเป็นไปได้ของต้นแบบทางธุรกิจ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้าน

 

 

                                                                ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350