ค้นหา
ห้องข่าว

ลูกจ้าง"เอสเอ็มอี"ระส่ำ โรงงานจ่อปลด1.8แสนคน สภาอุตฯอ่วม!ออเดอร์หด

 สสว.บอกข่าวร้าย!ระบุธุรกิจเอสเอ็มอีจะลดการจ้างงานลง 90,000-180,000 คน เตรียม"เวิร์คช็อป"ปรับโครงสร้างการส่งออก ยกระดับการแข่งขัน ด้านสภาอุตฯกระอัก "ออเดอร์"ไตรมาส 2 ส่อติดลบอีก

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยว่า ในปีนี้กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งปัจจัยการเมืองที่ยังไม่สงบ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจมาก เชื่อว่าปีนี้เป็นปีที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่คงต้องใช้เวลาเยียยากันนานพอสมควร มองในแง่ดีอีก 1-2 เดือนข้างหน้าเชื่อว่าน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง

"คาดว่าอัตราการขยายตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีในปีนี้น่าจะมีมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียง 0-0.1% ขณะที่การส่งออกน่าจะอยู่ที่ 1.58 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 6-7% เช่นเดียวกับรายได้ในภาพรวมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.78 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2-3%" นายภักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้คาดว่า การจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอีในปีนี้น่าจะลดลง 1-2% จากจำนวนแรงงานที่มีอยู่ 9 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนการจ้างงานที่ลดลง 90,000-180,000 คน

นายภักดิ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 30 เมษายน สสว.จะมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจเอสเอ็มอีใหม่ โดยจะมีการปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพ และยกระดับการแข่งขันระดับประเทศเพิ่มขึ้น เบื้องต้นจะเสนอแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ 2 ประเด็น คือ

1.มาตรการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ และสอบถามผู้ประกอบการว่าจะให้ภาครัฐช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ซึ่งเบื้องต้นพบว่าผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ และ 2.ต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ

ทางด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นของ ส.อ.ท. คาดว่า ภาพรวมคำสั่งซื้อ(ออเดอร์) ล่วงหน้าในไตรมาส 2 ของปีนี้ยังคงติดลบ แต่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะติดลบน้อยกว่าไตรมาสแรกหรือไม่ ซึ่งคงต้องติดตามอีกระยะหนึ่ง เพราะขณะนี้ออเดอร์การผลิตส่วนหนึ่งมีการทยอยเข้ามาบ้าง ต่างจากช่วงก่อนหน้านี้ที่จะเป็นลักษณะสั่งซื้อล็อตใหญ่ และสั่งซื้อยาวเป็นไตรมาส

"อุตสาหกรรมหลักๆที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เช่น กลุ่มยานยนต์ และชิ้นส่วน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสิ่งทอ ออเดอร์ยังคงลดลงและทรงตัวในระดับต่ำ มีเพียงกลุ่มอาหารที่ยังเติบโตระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งทำให้ภาพรวมการส่งออกไตรมาส 2 อาจติดลบใกล้เคียงกับไตรมาสแรก หรือลดลงเล็กน้อย" นายธนิต กล่าว

ด้านนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากการประเมินคาดว่าออเดอร์ในไตรมาส 2 ยังมีทิศทางทรุดตัวใกล้เคียงกับไตรมาสแรก โดยจากการสำรวจความคิดเห็นสมาชิก ส.อ.ท. เกี่ยวกับทิศทางของออเดอร์ ส่วนใหญ่ระบุว่ายังคงที่อยู่ ดังนั้นเฉลี่ยไตรมาส 2 ออเดอร์ยังคงมีทิศทางติดลบเป็นตัวเลข 2 หลักเหมือนไตรมาสแรก

"ต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่ภาคการผลิตต้องเผชิญวิกฤติมากกว่าปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเสียอีก เนื่องจากช่วงนั้นภาคส่งออกแฮปปี้กัน เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่ามากไปอยู่ที่ 50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และตลาดส่งออกไม่มีปัญหาทำให้การส่งออกดีมาก และต่างชาติก็มาซื้อสินค้าราคาถูกในไทยด้วย แต่เวลานี้ตรงกันข้าม ภาคการผลิตกำลังจะแย่แล้ว ซึ่งมันจะกระทบเป็นลูกโซ่" นายทวีกิจ กล่าว

ขณะที่นายไพรัตน์ เอื้อชูยศ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็น ส.อ.ท. มองว่า ในช่วงฤดูร้อนของปีนี้สถานการณ์การขายเครื่องปรับอากาศอาจไม่ขยายตัวมากเท่าไร โดยคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 80% จากเป้าที่ตั้งไว้ จากเดิมที่เคยขายได้ 100% ตามเป้าหมาย เนื่องจากขณะนี้ระบบการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างมีปัญหา และปัญหาทางการเมืองทำให้บรรยากาศในการซื้อขายเงียบเหงา

ทั้งนี้ยอดขายในไตรมาสแรกยังทรงตัวอยู่ ไม่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะตลาดยังมีความต้องการสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพในการขยายตัว ซึ่งอาคารสมัยใหม่ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้เครื่องปรับอากาศทั้งหมด

"ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 มองว่าถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาการเมืองให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ บรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยเริ่มเข้าที่ ยอดขายน่าจะกลับมาสูงอีกครั้ง เพราะในเมืองไทยแอร์ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ อาคารสร้างใหม่ส่วนใหญ่ต้องใช้แอร์ อีกทั้งการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านยังเติบโตดี ลูกค้าเชื่อมั่นในสินค้าจากไทย" นายไพรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ นายไพรัตน์ ยังแนะนำว่า ผู้ประกอบการจะต้องรักษาตลาดในประเทศไว้ให้มากที่สุด โดยยอดขายในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 80% เนื่องจากตลาดในประเทศยังมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะลูกค้าจากต่างจังหวัด ส่วนการส่งออกคิดเป็น 20% โดยมีตลาดหลัก คือ สหรัฐ อเมริกา ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย เป็นต้น

                                                                ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 27 เมษายน 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350