ค้นหา
ห้องข่าว

ท่องเที่ยวไม่วิกฤติ..แต่เสียโอกาส

 "การท่องเที่ยว"  เป็นอีกธุรกิจที่ทำรายได้หลักเข้าประเทศ  แต่ช่วงที่ผ่านมา  ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยซบเซาอย่างเห็นได้ชัดจากผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศ  แต่หลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)  เมื่อวันที่  24  เม.ย.ที่ผ่านมา  ทำให้ความหวังของธุรกิจท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง

     แต่ปัญหาที่การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวไทยไม่ยั่งยืนเป็นเพราะเหตุใด   ข้อคิดเห็นจาก  กงกฤช  หิรัญกิจ  ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  น่าสนใจไม่น้อย

0  ประเมินภาพรวมท่องเที่ยวในขณะนี้

     ได้ประเมินไว้ว่าท่องเที่ยวเจอ  3  เหตุการณ์  คือ  ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งผลตั้งแต่ไตรมาสที่  3  ของปี  2551  เดือน  ก.ค.  ส.ค.  ก.ย.  ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มติดลบ  2-3%  ซึ่งเป็นครั้งแรก  ในขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วง  6  เดือนแรกในปีที่แล้วจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติถึง  10%  โดยเฉลี่ยต่อปีนักท่องเที่ยวจะเพิ่มในอัตรา7%

     ต่อมาเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งกันประมาณปลายไตรมาสที่  3  ตั้งแต่การชุมนุมที่สะพานมัฆวานรัฐสภา  ปิดสนามบิน  มาตั้งแต่ไตรมาส  3  ต่อ  4  เดือน  ก.ย.  ต.ค.  พ.ย.สรุปว่าทำให้ไตรมาส   4  ติดลบมากขึ้นไปใหญ่  สุดท้ายตัวเลขนักท่องเที่ยวรวมทั้งปีติดลบ  2%  จากที่ครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมาดีมากๆ  แสดงว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังติดลบไปพอสมควรและพอมาไตรมาสแรกในปีนี้ก็คาดว่าจะติดลบต่อเนื่อง  โดยจากประมาณการณ์ของผู้ประกอบการคิดว่า  ลบ  25%  และจะค่อยๆ  ดีขึ้นในไตรมาส  2  ของปีนี้  เดือน  เม.ย.  พ.ค.และมิ.ย.น่าจะฟื้นจากตัวเลขที่ติดลบเยอะๆ  จาก  25%  ก็เหลือ  15  %

     แต่มุมกลับ   เพราะ  เม.ย.  ต้นไตรมาส  2  กลับมาเจอเหตุการณ์จลาจลเข้ามาซ้ำเติมไปอีก  ทำให้ตัวเลขน่าจะทรุดกว่าไตรมาสแรก  คาดว่าตัวเลขน่าจะติดลบกว่า  40%  แต่ถ้าเหตุการณ์สงบแล้วก็   ค่อยๆ   ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นได้ในไตรมาส  3  ตัวเลขติดลบก็จะแผ่วลง  อาจจะเหลือ  20-25%   และไตรมาสสุดท้ายถ้าเราทำงานกันหนักก็น่าจะเป็นบวก  10%  โดยสาเหตุที่เป็นบวกเพราะว่าปลายปีที่แล้วตัว   เลขนักท่องเที่ยวติดลบจากการปิดสนามบินโดยภาพรวมทั้งปี  คาดว่านักท่องเที่ยวจะหายไป  20-22%  จาก  14.1  ล้านคน  น่าจะเหลือใกล้ๆ 11  ล้านคน

     อย่างไรก็ตาม  ยังมีผลเรื่องราคาเข้ามาอีกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก  ประเทศคู่แข่งขันการท่องเที่ยวในภูมิภาค  ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย  อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์  เวียดนาม  ต่างลดราคาเราก็ต้องลดตาม  โดยภาพรวมทั้งปีน่าจะลด  12-15%  รวมจำนวนนักท่องเที่ยวและมูลค่าน่าจะลดลง  30-35%  คาดว่ามูลค่ารายได้นักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะเหลือ  3.5  แสนล้านบาท  จาก  5.4  แสนล้านบาท  แต่ไทยยังมีรายได้จากคนไทยเที่ยวไทยปีละประมาณ  4 แสนล้านบาท  น่าจะเข้ามาช่วยพยุง

0  การที่รัฐบาลยกให้ท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติพอเห็นแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจฟื้นขึ้นมาได้มั้ย

     อย่างน้อยที่สุดก็มีผลจิตวิทยาต่อทุกภาคส่วน   ทั้งภาครัฐบาล  ภาคข้าราชการที่จะเข้ามาเกื้อหนุนให้นโยบายของรัฐบาลสัมฤทธิ์ผล    รวมทั้งภาคผู้ประกอบการอย่างน้อยก็มีขวัญกำลังใจ  มีความหวัง   มีเป้าหมาย  มีกำลังที่จะต่อสู้  และก็เชื่อว่าเป็นพันธะของรัฐที่จะเข้ามาดูแลท่องเที่ยวอย่างแท้จริง  เพราะรัฐเป็นผู้ประกาศ  และก็เชื่อว่านายกฯ  อภิสิทธิ์  ก็คงจะตั้งใจเข้ามาดูแลอย่างแท้จริง  ซึ่งมั่นใจเป็นผลบวกต่อ

0   การประกาศ  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวจนเห็นได้ชัด  หรือเป็นผลสะสมจากเหตุการณ์การเมืองไม่ดีมาก่อนหน้านี้

     เป็นผลประกอบกัน  ความไม่มั่นคงปลอดภัยจนเกิดจลาจล  ข่าวที่ออกไปรุนแรงกลบกระแสพ.ร.ก.ฉุกเฉิน  แต่หลายประเทศก็เห็นว่า  การประกาศ  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  เป็นสัญญาณว่าในประเทศยังไม่มีความปลอดภัย

     จริงๆ  ตรงนี้มีสาเหตุคงมาจากความรุนแรง  แต่สัญญาณที่บอกว่ามีความรุนแรง  คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพราะฉะนั้น   พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง  แต่เป็นตัวหนึ่งที่ส่งสัญญาณว่าความรุนแรงยังมีอยู่   เพราะฉะนั้น   ได้เรียนท่านนายกฯ  ไปว่า  ความมั่นคง  ปลอดภัย  ความสงบสุข   มาเป็นอันดับหนึ่ง  พ.ร.ก.เป็นอันดับ  2  เพราะถ้าท่านมั่นใจว่าปลอดภัยก็ยกเลิก  แต่ถ้าท่านยังไม่มั่นใจก็อย่าเพิ่งยกเลิก  เพราะว่าไม่มีประโยชน์อยู่ดี

     หลังจากนี้เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น   ถ้าสถานการณ์เริ่มนิ่งแล้วก็จะเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยในรัฐสภา  มีการยกเลิกประกาศก็แสดงว่ารัฐบาลมั่นใจในความปลอดภัยแล้ว  ต่อไปนี้ภาครัฐ  เอกชนต้องทำการแก้ไขภาพลักษณ์ของประเทศ  และทำการตลาดร่วมกัน

      สิ่งแรกที่ต้องเริ่ม   ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์   สร้างภาพลักษณ์  ทำความเข้าใจขอให้  20  กว่าประเทศยกเลิกประกาศเตือนนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยทั้งหมด  2.ออกไปทำการขายโรดโชว์  เจอผู้ประกอบการต่างประเทศ  3.ทำโปรโมชั่น  มาตรการส่งเสริมการขายที่เป็นขั้นรุนแรง    อาจจะต้องจัดแพ็กเกจราคาพิเศษร่วมมือกันทั้งประเทศในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  เหมือนออสเตรเลีย  สิงคโปร์  มาเลเซียที่เจอวิกฤติเศรษฐกิจ  ก็ได้ทำแพ็กเกจร่วมกับสายการบิน  บริษัทนำเที่ยว  ศูนย์การค้า  สถานที่ท่องเที่ยว  เอกชน  จัดแพ็กเกจราคาถูกแล้วมาโฆษณาในหนังสือพิมพ์ในบ้านเรา  ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยทำใหญ่ขนาดนี้  ครั้งนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในการทำตลาด

0  ถ้าเทียบภูมิภาคเอเชีย  การท่องเที่ยวไทยเด่นสุดหรือเปล่า

     จริงแล้วในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโตเฉลี่ย   8%  ไทยอยู่  6-7%  ซึ่งต่ำกว่าค่าตัวเฉลี่ย โดยประเทศจีน  เวียดนาม  มาเลเซีย  มีอัตราเร่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย  ไทยเสียศักยภาพด้านการแข่งขันมานานนับ  5-10  ปีแล้ว  เพราะฉะนั้นในตอนนึ้คงเป็นเรื่องในระยะ  3-5  ปี  ถ้ารัฐบาลนิ่งก็ควรเข้าจะมาดูแล   นอกเหนือจากการขายในตลาด  สร้างศักยภาพเพิ่มสมรรถนะทางการแข่งขันในระยะยาวด้วย

0  ที่ผ่านมาปัญหาการเมืองส่งผลกระทบต่อท่องเที่ยวชัดเจนที่สุด

     คิดว่าปัญหาการเมืองใหญ่สุด  แต่อย่างไรก็ตาม  ประเทศไทยไม่ค่อยดูการจัดสรรงบประมาณมาเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านการท่องเที่ยว    ส่วนใหญ่เราเน้นขายแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว  แต่ไม่เคยพัฒนาทางด้านอุปทาน  หาแต่อุปสงค์  คือหานักท่องเที่ยวเข้า  เราเน้นตรงนี้มากเกินไป  จนประเทศไทยขาดการจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยว  พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว   การพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ   ขาดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผู้ประกอบการ  ซึ่งไม่ได้ดูแลเลย   ตรงนี้ประเทศไทยไม่เคยพูดถึง   เนื่องจากเป้าหมายการท่องเที่ยวของรัฐบาลส่วนใหญ่จะพูดถึงรายได้กับจำนวนนักท่องเที่ยว  โดยไม่ได้พูดถึงตรงนี้

     ตรงนี้ผมมองว่าจำเป็นแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาดู   เพราะว่าขีดความสามารถของเราเริ่มสูญเสีย  แพ้ต่างประเทศ  เพราะไม่เข้ามาดูนโยบายเรื่องการพัฒนา  ดูแต่ยอดขาย

0  มาตรการที่เอกชนรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล  หรือรัฐบาลอนุมัติแล้ว  แต่ยังไม่ได้ใช้เต็มที่    

     มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยตั้งแต่ปิดสุวรรณภูมิก็มีหลายมาตรการ   เช่น   ลดค่าธรรมเนียมวีซ่า   ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามามีต้นทุนถูกลง  ให้บริษัทธุรกิจเอกชนในประเทศจัดประชุมสัมมนาที่ต่างจังหวัด  โดยนำค่าใช้จ่ายตรงนี้สามารถนำไปลดภาษีเงินได้นิติบุคคลได้  2  เท่า  ตรงนี้ก็ยังไม่ออกมาในระเบียบปฏิบัติจนจะหมดปีงบประมาณ  เพราะฉะนั้นหลายๆ  มาตรการที่จะกระตุ้นนักท่องเที่ยวก็ยังไม่ออกมา

     หรือจะเป็นมาตรการเยียวยาช่วยเหลือทางด้านสินเชื่อ   ก็เป็นเรื่องดี  แต่ควรเข้าไปดูรายละเอียดของการปล่อยสินเชื่อ   ที่มีกระบวนการขั้นตอนอาจจะยาวเพราะเป็นเงื่อนไขพิเศษ  ขนาดเงื่อนไขปกติก็ยากอยู่แล้ว  เงื่อนไขพิเศษก็ยากกว่าปกติ  ผู้ที่ขอสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีปัญหา  ดังนั้น  โอกาสที่จะได้รับสินเชื่อจึงมีน้อย

0  ตลาดต่างประเทศที่จะเข้าไปกระตุ้นและดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาไทย

     ตอนนี้จีน  ญี่ปุ่น  ฮ่องกง  เกาหลี  ไต้หวัน  ตกไปหมดเลย  ซึ่งตลาดเอเชีย  รวมอินเดีย   ออสเตรเลีย   เอเชีย  8.5  ล้านคน  คิดเป็น  60%  จากนักท่องเที่ยวที่มีอยู่  14  ล้านคน  เพราะฉะนั้นเลยมีผลกระทบจำนวนมาก  ทำตลาดตอนนี้ก็คงมาฟื้นเอเชีย  ตลาดใหม่ๆ อย่าง  อินเดีย  รัสเซีย

0  แต่ของเราขาดบุคคลากรด้านท่องเที่ยวที่จะเข้าไปเจาะตลาด

     ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่ดี   มีผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง   ผมคิดว่าการตลาดบ้านเราใช้ได้  แต่ขาดความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย  เพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยมาก  ในเรื่องเชิงพัฒนาไม่มี  มีแต่เรื่องการขาย  ซึ่งเป็นระยะสั้น  โดยไม่มีใครเข้าดูแผนระยะกลางกับระยะยาว  ดูแต่ช็อตเทอม

     ผู้ประกอบการสนใจแผนระยะยาวอยู่แล้ว   โดยภาครัฐมีหน้าที่ดูแผนระยะกลางและระยะยาว  ซึ่งตอนนี้เราไม่มีมาสเตอร์แพลนว่าการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้องใช้เงินเท่าไร  สมมุติแผนจราจร   วางแผนเส้นทางรถไฟฟ้านับ   10  ปีกว่าจะได้  แต่ละเส้นแต่ละสายหาแหล่งที่ไหน  คุ้มทุนยังไง   ท่องเที่ยวไม่มีคนคิดอย่างนี้  ท่องเที่ยว  เป็นเส้นเลือดใหญ่  แต่ไม่มีคนดูในภาพใหญ่  มันก็เลยเละ

0  ธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ในสถานะวิกฤติหรือเปล่า

     ไม่ถึงวิกฤติ  แต่ถ้าไม่ทำอะไรก็จะสูญเสียโอกาส  เสียสภาพการแข่งขัน  ตอนนี้จีนพัฒนาด้านท่องเที่ยวดีกว่าบ้านเรา   ประเทศไทยยุ่งไปหมด  เพราะระบบการจัดการบ้านเรายังขาด  จริงแล้วเราสามารถสร้างโอกาสเพื่อสร้างรายได้อีกมาก  น่าเสียดายโอกาส  น่าจะขยับได้สูงกว่านี้  นักท่องเที่ยว  14  ล้านคน  แต่น่าขยับได้ถึง  20  ล้านคนได้สบายๆ  ไม่มีใครคิดขยับในฐานใหญ่ก็เพิ่ม   6-7%   ต่อปี  ขณะที่จีนภายในระยะเวลา  20  ปี  มีนักท่องเที่ยว  50  ล้านคนเป็นไปได้ยังไง  มาเลเซียก็มีแหล่งท่องเที่ยวเรียบร้อยกว่าเรา  เวียดนามมีอัตราเร่งสูงประเทศไทยไม่ต่อเนื่อง  ไม่มีแผนระยะยาว

0  สถานการณ์ท่องเที่ยวในขณะนี้  ทำให้ภาคธุรกิจเหนื่อย

     ประเทศไทยยังโชคดีที่ยืดหยุ่น   ปรับตัวได้เร็ว  แต่ไม่มีครั้งไหนที่เรามีวิกฤติขัดแย้งยาวนานจนส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเหมือนครั้งนี้  จนผู้ประกอบการรู้สึกว่าได้รับผลกระทบนานที่สุด  อย่างพฤษภาทมิฬ  อาทิตย์เดียวเรื่องก็จบ  14  ตุลาก็ใช้เวลาไม่นาน  ปฏิวัติก็ไม่มีผลต่อการท่องเที่ยว  เพราะไม่มีความรุนแรง  แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้  6  เดือนยังไม่เลิกเลย  และไม่รู้จะเลิกจริงหรือเปล่า  ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ท่องเที่ยวที่เป็นเช่นนี้

     สภาพคล่องของเอกชนสำคัญ  ไม่มีธุรกิจไหนหรอกที่จะอยู่ในภาวะอย่างนี้ได้นานๆ  ถ้าปัญหามาจากเศรษฐกิจโลก  เรายังสามารถดึงเกมได้  นักท่องเที่ยวก็ยังเดินทางเข้ามา

    ปีหน้าถ้าบ้านเราสงบสุข  นักท่องเที่ยวก็น่าจะกลับมาอยู่ในฐานเดิม  14  ล้านคน  เหมือนในช่วงสึนามิ  ที่นักท่องเที่ยวหายไป  8-9%  ในปีต่อมา  พอหลังจากนั้นอีกหนึ่งปีนักท่องเที่ยวก็เพิ่มเป็น  16-17%  ถ้าเราทำได้ดี  นักท่องเที่ยวก็จะกลับบมา  โดยปัจจัยที่ควรแก้ไขคือ  การขัดแย้งทางการเมืองที่ก่อความรุนแรง

                                                               ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพต์ ฉบับวันที่ 27 เมษายน 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350