ค้นหา
ห้องข่าว

เผย 5 อุตฯไทยโตสวนกระแส จี้ปั้นแรงงานยอดฝีมือป้อนด่วน

กสอ. เผย 5 อุตสาหกรรมไทย ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปรับอากาศ รองเท้า แม่พิมพ์ และซอฟต์แวร์ โตสวนกระแส ต้องการแรงงานฝีมืออีกกว่า 20,000 คน จี้เร่งสร้างแรงงานยอดฝีมือ ผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมเหล่านี้
       

       นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมสมองระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กสอ. กับภาคเอกชน เพื่อร่วมกันแก้วิกฤตเศรษฐกิจ พบว่า แม้หลายธุรกิจจะเกิดการเลิกจ้างงาน แต่ยังมี 5 อุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดี แถมยังต้องการแรงงานฝีมือเพิ่ม ได้แก่
เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปรับอากาศ รองเท้า แม่พิมพ์ และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สมองกล/แอดิเมชั่น
       

       ในขณะนี้ กลุ่มที่ต้องการแรงงานฝีมือมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ต้องการแรงงานถึง 12,900 คน ตามด้วยช่างติดตั้งเครื่องปรับอากาศประมาณ 1,000 คน อุตสาหกรรมรองเท้า ประมาณ 3,000 คน อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ประมาณ 3,000 คน ส่วนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และแอนิเมชั่น 3,000 คน รวมแล้วในเบื้องต้น ใน 5 อุตสาหกรรมดังกล่าว มีความต้องการแรงงานมากถึง 20,000 – 30,000 คน
       
       สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ จำเป็นต้องได้รับแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยจะเสียโอกาสในตลาดต่างประเทศที่ยังมีความต้องการสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะสิ่งทอส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น หากไม่มีแรงงานฝีมือเข้ามาทำงานอย่างเร่งด่วนจะทำให้ออเดอร์ ลดลงกว่า 10%
       
       “สาเหตุที่สินค้าจากประเทศไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เพราะคุณภาพเป็นที่ยอมรับ เช่น รองเท้า ประเทศไทยสามารถผลิตได้คุณภาพดี ระดับเทียบเท่ากับประเทศในแถบยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่า ลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าจากจีน เปลี่ยนมานำเข้าสินค้าจากประเทศไทยแทน” นายปราโมทย์ ระบุ
       
       ดังนั้น จึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องพัฒนาบุคลากรทั้งที่ถูกเลิกจ้าง และนักศึกษาจบใหม่ เพื่อยกระดับเป็นแรงงานที่มีศักยภาพ ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมที่ยังมีโอกาสเติบโต เช่น ผู้ถูกเลิกจ้างในภาคอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเพิ่มศักยภาพเพื่อกลับเข้าสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สมองกลหรือแอดิเมชั่นได้ เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านั้น เป็นพลังขับเคลื่อนธุรกิจในยามวิกฤต และพร้อมที่จะเติบโตได้ทันทีเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว
       
       นายปราโมทย์ ระบุด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอของบประมาณ เพื่ออบรมแรงงานฝีมือระยะเร่งด่วน คาดใช้งบประมาณ 10,000 บาทต่อคน โดยใช้เวลาฝึกอบรมประมาณ 1 เดือน

                                                                                                                    ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 25 มีนาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350